Neighbors and friends

“ผมอยากช่วยธรรมชาติ มากกว่าที่ธรรมชาติช่วยเรานะ”

ความสุขของการมองเห็นธรรมชาติที่เป็นสุข 

– คุณโจ ธราพงษ์ วงศ์วัฒนากิจ –
วิศวกรไอทีเจ้าของสวนมะพร้าวอินทรีย์ Gardener House

ความสุขของทุกคนต่างกัน บางคนสุขจากการได้รับ บางคนสุขจากการให้ และบางคนสุขจากมีสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว แต่บางคนก็สุขจากการมีธรรมชาติรอบตัว แต่ไม่ว่าจะมีความสุขในแบบไหน ใจของเราทุกคนจะรับรู้ได้ด้วยตัวเอง และในวันนี้เราได้เดินทางมาที่จังหวัดราชบุรี เพื่อมาพบกับ คุณโจ ธราพงษ์ วงศ์วัฒนากิจ หนุ่มไอทีที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของสวนมะพร้าวอินทรีย์ “Gardener House” ที่บ้านเกิดของตัวเอง และทำให้เราได้พบคำตอบของความสุขบางอย่างที่รู้ว่า “ความสุขของเขา คือการเห็นธรรมชาติที่เป็นสุข”

อะไรคือ “ธรรมชาติที่เป็นสุข” ?

แน่นอนว่าทุกคนคงมีคำถามแบบนี้ เพราะธรรมชาติก็คือธรรมชาติ เราคงไม่มีทางเห็นต้นไม้ยิ้มได้ หรือดินหัวเราะได้
แต่ธรรมชาติมีความสุขได้ ด้วยการแสดงถึง “ความสมบูรณ์และเคลื่อนไหวอย่างอิสระ” ซึ่งที่สวนมะพร้าวแห่งนี้ ทุกสิ่งเป็นเช่นนั้นจริง ๆ 

“ผมเป็นวิศวกรไอทีครับ ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ตอนนี้ผมกลับมาทำสวนมะพร้าว
ไม่ได้ใหญ่หรอกครับ เป็นสวนเล็ก ๆ แต่มันเป็นสวนเล็กที่มีความสุข  ถ้ามันใหญ่แล้วไม่มีความสุข
มันก็เท่านั้นครับ สวนที่นี่ของผมคือจะปลูกต้นมะพร้าวไม่ได้เยอะมาก จริง ๆ มันเยอะและถี่ได้มากกว่านี้นะ แต่ผมอยากให้เขาเติบโตอย่างอิสระ มะพร้าวคือธรรมชาติ เราก็ต้องปล่อยให้เค้าเป็นธรรมชาติ เวลามองแล้วนี่แหละความสุข”

แล้วอะไรที่ทำให้ผู้ชายคนนี้เปลี่ยนมุมมองความสุขแบบคนเมือง
หันกลับมามองความสุขบนธรรมชาติ

“ผมมีที่ดินที่นี่อยู่แล้วครับ จริง ๆ ทำมาก็ 8 ปีแล้ว แต่ตัวผมเองทำงานไอทีอยู่กรุงเทพฯ ยังไม่สามารถมาทำแบบเต็มตัวได้ เลยศึกษาพืชที่ดูแลน้อย ไม่ต้องเก็บผลผลิตทุกวัน เลยรู้ว่าราชบุรีติด 1 ใน 4 จังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่ดีที่สุดในประเทศไทย ผมจึงเริ่มศึกษาเรื่องมะพร้าวตั้งแต่นั้นมา สำหรับผมการทำเกษตรก็เหมือนเป็น challenge อย่างหนึ่งให้ตัวเองด้วยเพราะจะมีคนบอกตลอดว่าการทำเกษตรมันเหนื่อยนะ แต่เรายังไม่รู้เลยว่าเราเหนื่อยยังไง แต่พอช่วงโควิดนี่แหละ ที่ผมได้กลับบ้าน ได้มาอยู่ที่นี่จริงจังมากขึ้น เลยรู้สึกว่าทุกอย่างมันดีมากเลย ทั้งอากาศ ทั้งแสงแดด ถึงจะเหนื่อยเพราะเราดูแลทุกวันมากขึ้น แต่มันมีความสุขมากเลย เห็นธรรมชาติเป็นธรรมชาติจริง ๆ” 

และเมื่อเขาได้กลับมาทำสวนมะพร้าวแบบอินทรีย์แบบจริงจัง ประกอบการเป็นวิศวกรไอที เลยทำให้การเกษตรในสไตล์คุณโจ เป็นการเกษตรอินทรีย์แห่งการใช้เหตุและผล
ซึ่งธรรมชาตินี้แหละที่เป็นเหตุและผลที่สุดแล้ว

ธรรมชาติคือเรื่องของเหตุผล และการใช้ธรรมชาติให้เป็น
คือคีย์สำคัญของ Gardener House

“เรื่องของธรรมชาติ หรือการเกษตรเนี่ย ผมศึกษาจากปราชญ์ชาวบ้าน ผมเรียนรู้การเลี้ยงชันโรง
ไว้เพื่อให้ผสมเกสร ใช้แตนเบียนบราคอนกำจัดศัตรูพืช  หรือการเลี้ยงปลาในร่องสวนเพื่อกินผักบุ้ง ต้นกก
ชาวบ้านก็บอกให้ผมเลี้ยงปลาตะเพียนเพราะจะไม่ทำลายดิน จะได้ไม่ต้องซ่อมร่องสวน ส่วนเรื่องดินเราก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างขี้แพะ ขี้ไก่ ปุ๋ยพืชสด เรื่องน้ำเราก็จะมีบ่อพักน้ำไว้ จะไม่ไปเอาน้ำจากภายนอกมาใช้
และไม่ปล่อยน้ำจากภายในสู่ภายนอก  เรื่องอากาศเราก็จะปลูกต้นไม้ไว้เป็น Buffer zone อย่างต้นโมก ต้นสัก ทั้งหมดมันคือเรื่องของเหตุผลทางธรรมชาติหมดเลย”

นี่จึงเป็นคีย์สำคัญของสวนมะพร้าวคุณโจ ที่ใช้หลักการและเหตุผลของธรรมชาติเข้ามาทำงาน ถ้าเรารู้กลไกของธรรมชาติจะเห็นได้ว่าซับซ้อนน้อยกว่าเครื่องจักรหรือสูตรเคมีอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการเลี้ยงศัตรูพืช เพื่อกำจัดศัตรูพืช นี่คือกลไกของอินทรีย์ที่แท้จริง

“ผมรู้มาจากปราชญ์ชาวบ้านนี่แหละครับ คือต้นมะพร้าวส่วนใหญ่ จะเจอปัญหาหนอนหัวดำ ซึ่งพอต้นมะพร้าวโดนหนอนหัวดำทำร้ายเขาจะเรียกว่าต้นหัวหงอก ใบจะหยิก ส่งผลต่อผลผลิต ทีนี้ปราชญ์ชาวบ้านเขาก็แนะนำให้ผมรู้จัก “แตนเบียนบราคอน” สิ่งมีชีวิตจิ๋วที่ช่วยกำจัดหนอนหัวดำได้ หลักการเขานะครับคือ เขาจะเจาะไปในหนอนหัวดำ ไปวางไข่ในตัวหนอน เรียกง่าย ๆ คือวิธีเบียดเบียนนั่นแหละครับ วันหนึ่งไข่เข้าฟักออกมาเป็นตัว หนอนจะมีชีวิตอยู่อีกประมาณสองถึงสามวันและค่อยตายไป ต่างจากสารเคมีครับที่หนอนจะตายทันที”

#และเมื่อตัวเราใช้ธรรมชาติเป็นแล้ว เราต้องไม่ลืมที่จะคิดเผื่อผู้อื่นและสังคม

แม้ต้นไม้จะเป็นธรรมชาติและสามารถย่อยสลายเองได้ แต่ส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานาน  ดังนั้นเมื่อเรารู้วิธีใช้ธรรมชาติ เราก็ต้องรู้วิธีควบคุมและรับผิดชอบธรรมชาตินั้นด้วยเช่นกัน
จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สวนมะพร้าวคุณโจ มีระบบการจัดการเศษอินทรีย์วัตถุที่เหลือจากการแปรรูป 

“อย่างสวนของผม มะพร้าวเราจะแปรรูป 90 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นน้ำบรรจุขวด ผมก็เลยดีไซน์ landscape ให้มีพื้นที่ประมาณสามงานสำหรับทิ้งพวกหนวดมะพร้าว จั่นมะพร้าว ซึ่งบางคนก็จะบอกว่าพื้นที่อีกเกือบหนึ่งไร่ปลูกมะพร้าวได้อีกตั้งกี่ต้น ทำเงินได้ปีละเท่าไหร่ แต่เราเลือกที่จะไม่ทำ อันนี้เราทิ้งไว้ให้เขาย่อยสลายเองแต่ต้องใช้เวลา”

นี่จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ว่า มากกว่าจำนวนเงินที่จะได้จากผลผลิตในสวน สำหรับคุณโจแล้วการได้ช่วยเหลือธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งสำคัญเป็นอันดับแรก

“ผมอยากช่วยธรรมชาติ มากกว่าที่ธรรมชาติช่วยเหลือเราอีกนะ”
นี่คือคำพูดของคุณโจ ที่ทำให้เราต้องฉุกคิดในทันที!!
อันที่จริงเราเองมักจะลืมคิดไปว่าธรรมชาตินั้นช่วยเหลือมนุษย์อยู่ เพียงเพราะการมีของธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เอง และการจากไปของธรรมชาติก็เช่นกัน
จึงทำให้รู้สึกว่าธรรมชาติก็แค่มี แต่ไม่ได้คิดเลยว่าธรรมชาติช่วยเหลือเรามากแค่ไหน ทั้งให้อากาศ ให้ออกซิเจน ให้ความผ่อนคลาย ให้ความร่มเย็น ไปจนถึงให้ความสมดุล

“ผมอยากช่วยธรรมชาติมากกว่าที่ธรรมชาติช่วยเหลือเราอีกนะ อย่างเรื่อง Carbon footprint ซึ่งตอนนี้ที่เราทำเป็นการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าการเก็บคาร์บอนแล้ว อย่างสวนผมก็ใช้ไฟฟ้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เหลืออย่างเดียวที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ คือ เครื่องตัดหญ้าที่ยังต้องใช้เครื่องยนต์อยู่ เราคำนวณทุกอย่างแม้กระทั่งรถยนต์ที่เราวิ่ง ในหนึ่งรอบในการส่งสินค้าว่าปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ คือ เราปล่อยแหละ มันเลี่ยงไม่ได้ว่าเราไม่ปล่อย ทุกคนปล่อยหมด ปล่อยทางตรงหรือปล่อยทางอ้อมแค่นั้นเอง แต่เราช่วยเหลือคืนกลับให้ธรรมชาติแค่ไหน แค่นั้นเอง”

ถ้าเราหันมามองความเป็นอยู่ของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โลกของเราอาจจะน่าอยู่มากขึ้น คนอาจจะป่วยน้อยลง แม้เราอาจจะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ที่ทำได้ แต่ยังดีกว่าการไม่ได้เริ่มทำอะไรเลย
เมื่อจบการสัมภาษณ์ของคุณโจในครั้งนี้ เพื่อนบ้านอย่างเรารู้สึกอะไรอีกเยอะแยะมากมายในเรื่องของธรรมชาติกับชีวิต “มากกว่าความเข้าใจคือการเกื้อกูล” หากวันนี้เรารู้แล้วว่าธรรมชาติคืออะไร แต่ถ้าเรามองลึกลงไปกว่านั้นว่าธรรมชาติเกื้อกูลอะไรเราบ้าง เราจะอยากตอบแทนพวกเขาให้มากขึ้น 


เพราะคงไม่มีความสุขใดที่จะยินดีไปกว่า การมองเห็นธรรมชาติที่เป็นสุข – เพราะเราทุกคนคือส่วนหนึ่งของธรรมชาตินี้เช่นกัน