“เพราะทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงกัน .. ทั้งดิน น้ำ และชีวิต”
เมื่อมนุษย์บนดินเริ่มออกหาอาหารที่ไม่ใช่แค่ผืนดินที่อยู่ แต่เป็นในน้ำอันล้อมรอบทุกอย่างไว้ การจัดสรรทรัพยากรโดยตัวมนุษย์เองจึงเกิดขึ้น
เมื่อแรกเริ่มเราคือผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร และมองสัตว์เล็กน้อยทุกชนิดเป็นเพียงสิ่งที่ต้องถูกล่า ไม่ว่าสัตว์เหล่านั้นจะอาศัยอยู่ที่ใด มนุษย์รู้เพียงอย่างเดียวว่าถ้ากินได้เราก็จะกิน เพื่อแนวคิด “การปกป้องและยืดอายุชีวิตของตัวเองให้อยู่รอดได้”
และเมื่อเรามองไปใน “ทะเล” ที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล จนเราแทบมองไม่เห็นได้ด้วยแค่สองตาว่าในผืนทะเลแห่งนั้นมีสัตว์น้อยใหญ่อยู่กี่ชนิด หรือ อยู่กี่ล้านล้านตัว แต่เรารู้แค่ว่า “นั่นคือแหล่งอาหารของเรา เราต้องการอาหารเหล่านั้นเพื่อความอยู่รอด”
ภายใต้แนวคิดนี้ ทะเลจึงเต็มไปด้วยสัตว์ที่มนุษย์กินได้ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลปลา กุ้ง หอย ปู หรือปลาหมึก รวมถึงสัตว์น้อยใหญ่อื่นๆ และถ้าเปรียบง่ายๆ ทะเลอาจจะเป็นบ้านที่รวมอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ได้ และเมื่อมนุษย์เรารับรู้ว่าที่นี่คือความอุดมสมบูรณ์ชั้นยอด ความตระหนักนึกคิดว่าวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะหมดไปจึงไม่เคยเกิดขึ้น และยังคงเป็นผู้ล่าอย่างเดียวมาเรื่อยๆ
วันแล้ววันเล่าที่มนุษย์อย่างเราทำแบบนี้ จนมาถึงในยุคที่เราในฐานะผู้บริโภคเริ่มรู้สึกและมีคำถามว่า “อาหารทะเลราคาแพงขึ้น” หรือ “อาหารทะเลหายากมากขึ้น” แต่นั่นคือความคิดปลายสุดของการกระทำ เพราะผู้ที่จะรับรู้ได้ว่าสัตว์ทะเลน้อยลงทุกทีก็คือ “ชาวประมง”
ชาวประมงคือผู้ส่งต่ออาหารจากพื้นที่มาสู่ร้านค้า จนมาถึงผู้บริโภค .. พวกเขาคือต้นน้ำที่สำคัญ และวันนึงเมื่อเวลาผ่านไปพวกเขาเริ่มตระหนักได้ชัดว่า “อาหารในบ้านของเราหลังนี้ ในทะเลผืนนี้กำลังจะหมดลง และมันหมดลงจริงๆนะ
เราลงพื้นที่ไปยังกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย อ.กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พวกเขาบอกเราว่าตัวอย่างของทรัพยากรในทะเลที่หมดลงจริงๆและเห็นได้ชัดก็คือ “ปลาทู” แต่ก่อนในวันหนึ่งการออกเรือหนึ่งครั้ง ใช้เวลาราว 12-13 ชั่วโมง เราจะพบเห็นหรือจับปลาทูได้หลายตัน แต่ในช่วงวิกฤตที่เกินเยียวยา “ใน 12 ชั่วโมงนั้น เราจับได้ไม่ถึงสิบตัว”
ปลาทูไม่ถึงสิบตัว มันเป็นเพราะอะไร ??
คำตอบนั้นง่ายนิดเดียว ก็เพราะ “เราบริโภคเพื่อปกป้องชีวิตเรา แต่เราไม่เคยบริโภคแล้วพยายามปกป้องชีวิตเหล่านั้นด้วยเลย”
กลุ่มประมงพื้นบ้านทุ่งน้อยแห่งนี้ คือ ตัวอย่างของกลุ่มชาวประมงที่มุ่งมั่นด้วยแนวคิด จับได้แต่ต้องรักษา ความสะอาดของที่มาสำคัญกว่าความสะอาดใดๆ เพราะการจับปลาอาจมีข้อกฎหมายกำหนด การทำถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง แต่การทำให้ถูกวงจรของระบบนิเวศน์ต่างหากเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
และแนวคิดง่ายๆแต่ยั่งยืนของกลุ่มคนประมงนี้ก็คือ การทำประมงแบบเลือกจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือการจับที่ถูกวิธี ไม่ล่าปลาตัวเล็กตัวน้อย ไม่ล่าในฤดูวางไข่ และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้ได้อยู่ต่ออย่างยั่งยืน
แต่ความรับผิดชอบเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ของชาวประมงเท่านั้น แต่มันคือเราทุกคนในฐานะผู้บริโภคด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้ในวันนี้ไม่ใช่แค่แนวคิด “การปกป้องและยืดอายุชีวิตตัวเองให้อยู่ได้” อีกต่อไป แต่คือ ถ้าเราอยู่ได้ อาหารของเราก็อยู่ต้องได้ ถ้าเราจับและบริโภคได้เราก็ต้องปกป้องพวกเขาด้วย “เพราะถ้าฝูงปลาสามารถสร้างขึ้นง่ายๆจากคลื่นของทะเลเช่นในรูป มันคงไม่ยากเกินไปที่จะบริโภคอย่างเดียว หากแต่มันไม่ใช่ เพราะปลาก็คือสัตว์ที่มีชีวิตจริงเช่นมนุษย์ทั่วไป ดังนั้นการรักษาและปกป้องแบบยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ”
และถ้าวันนี้ .. “ทะเล”คือ”บ้าน” .. “สัตว์ที่อยู่ในทะเล”ก็เหมือน”เจ้าของบ้าน” .. เราต่างหากที่เป็นแค่ผู้อาศัยหรือแขกที่มาเยือนบ้านหลังนี้ …. เราใช้ประโยชน์ในบ้านได้ แต่ก็ต้องดูแลรักษาบ้านและถนอมน้ำใจเจ้าของบ้านเขาด้วย และจงรักบ้านหลังนี้เหมือนที่รักบ้านตัวเอง เพื่อสานต่อความสัมพันธ์เหล่านั้นให้ยืนยาวต่อไป
และติดตามเรื่องราวของ ”กลุ่มชาวประมงทุ่งน้อย” ได้ในคอนเท้นต์ต่อไป .. เพราะกลุ่มคนเรานี้จะมาทำให้คุณได้รู้ว่า “การเป็นเพื่อนกับธรรมชาติ และการต่อสู้เพื่อปกป้องเพื่อนคนนี้มันมีคุณค่าและมีราคามากแค่ไหน”