Neighbors and friends

SLA bar n’ bed

อยู่ง่ายๆ สบายๆ ไม่ต้องเท่ – โฮสเทลนี้..พี่มีแต่ให้

เราอยากให้คุณลองนึกภาพโฮสเทลไว้ในใจของคุณ แล้วค่อยอ่านเรื่องนี้ เพราะภาพตอนนี้กับภาพตอนจบของคุณอาจไม่เหมือนกันก็ได้

วันนี้เราเดินทางมายังย่านบางลำภูหรือบางคนก็เรียกย่านถนนสามเสน ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่วันนี้เราได้มายืนอยู่ในซอยวรพงษ์เป็นที่เรียบร้อย และสิ่งที่อยู่ข้างหน้าของเราตอนนี้ ก็คือตึกแถวหลังหนึ่งในย่านชุมชนเก่า หน้าบ้านมีรองเท้าวางเรียงราย ชานหน้าบ้านมีโต๊ะพร้อมเก้าอี้ไว้คอยรับแขก พร้อมกับตกแต่งด้วยผ้าม่านที่ค่อนข้างดูแปลกตากว่าบ้านหลังติดๆกัน และที่นี่คือ “SLA Bar’n Bed” โฮสเทลที่เราจะพาทุกคนไปรู้จักวันนี้

ตึกแถวหลังนี้ได้ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นจุดแวะพักของนักเดินทางตามคำนิยามของศัพท์สากลว่า “โฮลเทล” แต่ตั้งแต่เราเข้ามาด้านในเราไม่รู้สึกว่าที่นี่เป็นโฮสเทลเลย แต่เหมือนเรากำลังเดินเข้าใน “บ้านเพื่อน” ที่สามารถทำตัวสบายๆ จะนั่งจะนอน จะเล่นตรงไหนก็ได้ โดยมี “แม่เพื่อน” คอยดูแลตลอดเวลา

เราขอเรียกที่นี่ว่า “บ้านเพื่อน” แล้วกัน บ้านเพื่อนหลังนี้มี “พี่ปุ้ย สลาลี สมบัติมี” เป็นเจ้าของบ้าน พี่ปุ้ยออกมาต้อนรับเราในชุดสีเหลืองสดใสและเป็นสไตล์ของเธอ พร้อมกับคุณแม่ที่รอรับเราตั้งแต่หน้าบ้าน พร้อมกับยกเมนูต้อนรับมาเสิร์ฟพวกเรา นั่นก็คือ “มะม่วงน้ำปลาหวานชุดใหญ่” ฝีมือคุณแม่เอง

เป็นการต้อนรับที่เหมือนกลับไปอยู่บ้านจริงๆ

เรื่องราวของ “SLA Bar’n Bed” แห่งนี้เกิดจากการที่พี่ปุ้ยได้มีโอกาสไปบาหลีคนเดียว 8 วัน และเกิดทำโทรศัพท์หายในวันที่สองของการไปอยู่ที่นั่น ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตและฉลองวันเกิดคนเดียว แต่ข้อดีคือทำให้เธอมีเวลาอยู่กับตัวเองและทบทวนสิ่งที่ตัวเองอยากทำมากที่สุด เธอนึกถึงตอนอยู่สมัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะมีรถไฟฟรีไปเชียงใหม่ เธอจะนั่งไปทุกเสาร์อาทิตย์เพื่อต่อรถไปยังปาย เธอนึกถึงความทรงจำนั้นและอยากสร้าง “จุดแวะพัก” เพื่อเติมเต็มความทรงจำที่หายไปนาน เธอจึงคิดอยากทำ “โฮสเทล”

และเมื่อกลับมาถึงเมืองไทยเธอเริ่มสร้างมันทันทีด้วยความร่วมมือจากรุ่นพี่ที่เคารพ คุณพ่อ คุณแม่ และตัวเธอเองด้วยเวลาเพียงแค่ 15 วัน จากวันที่เธอต้องนั่งรอคอยรองเท้าให้เต็มหน้าบ้าน จนเพื่อนของเธอคิดจะเอารองเท้ามาช่วยวางให้ กลายเป็นทุกวันนี้รองเท้าหน้าไม่เคยขาด แขกเต็มทุกวัน แม้ที่นี่จะมีเพียงแค่ 4 ห้อง แต่โฮเทลนี้ไม่มีดอมหรือห้องรวมที่ต้องอยู่รวมกัน สำหรับที่นี่จ่ายเงินแค่ 500 บาท แต่ได้ห้องพักเดี่ยว มีที่นอน ชั้นวางของ พื้นที่พักผ่อน อุปกรณ์สำหรับทำธุระส่วนตัว รวมไปถึงอาหารเช้าแบบโฮมมี่


อาหารเช้าของที่นี่เป็นฝีมือของพี่ปุ้ยเอง แต่บางวันลูกค้าก็จะได้ความพิเศษเหล่านั้นจาก “คุณแม่” คุณแม่มักจะทำอาหารแล้วแถมทุกอย่างที่แถมได้ เช่นบางวันก็มีปาท่องโก๋ กล้วยทอด มะเฟืองหรือผักกาด ฟังแล้วคล้ายๆกับเวลาที่แม่ของเราให้ทานที่บ้าน ก็มักจะทำให้มากเกินกว่าที่เราทาน แต่นั่นคือความสุขใจของคนทำ แต่สร้างความอิ่มใจให้กับผู้รับ ซึ่งคุณแม่ของพี่ปุ้ยเป็นแบบนั้น


และในทุกๆวันอาทิตย์สิ่งที่พี่ปุ้ยทำ คือพาแขกทุกคนไปตาม “SLA NOTE” หรือแผนที่ลับที่จะปักหมุดสถานที่เจ๋งๆที่น่าไปในกรุงเทพฯ อย่างเช่น พาไปดูมวยไทยฟรี ไปนั่งบาร์ฟังดนตรีเพราะๆ พาไปหาร้านอาหารอร่อยๆทาน และทุกครั้งก็จะมีคุณแม่ไปด้วย เหมือนเป็นการไปเที่ยววันหยุดแบบครอบครัว ดูแลเหมือนญาติ และคำว่า”นักเดินทาง”ไม่เคยเป็นคำที่พี่ปุ้ยใช้เรียก แต่พี่ปุ้ยเรียกทุกคนว่า “เพื่อน” และคุณแม่เองก็มองแขกทุกคนเหมือนเป็น “เพื่อนลูก”

และไม่ใช่แค่นั้น เมื่อแขกคนใดคนหนึ่งต้องกลับ พี่ปุ้ยและแม่จะเลี้ยงอำลาด้วยการตั้งหม้อสุกี้หน้าบ้าน และเชิญแขกทุกคนในบ้านมากินด้วยกัน มันจึงทำให้ที่นี่กลายเป็นครอบครัวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากคนไม่รู้จักเป็นสนิทกัน จากคนต่างถิ่นต่างทวีปกลายเป็นเพื่อนกัน โดยมีพี่ปุ้ยและคุณแม่เป็นส่วนเชื่อมความสัมพันธ์


ที่นี่จึงไม่ใช่แค่จุดแวะพัก แต่คือ “บ้านของนักเดินทาง” ที่นี่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์พวกเขาจากการมุ่งแค่เที่ยวในที่ที่ต้องการ กลับโฮสเทลมาเพื่อนอน กลายมาเป็น การเที่ยวตามที่ที่ต้องการ แต่กลับมาบ้านเพื่อมาพักผ่อนและเติมเต็มความอบอุ่น .. และทุกครั้งที่นักเดินทางเหล่านี้จะกลับไป พวกเขาจะมากอดคุณแม่ บ้างก็ร้องไห้ บ้างก็แสดงความรักด้วยการเขียนโน้ต หรือบางคนในวันแม่ที่ผ่านมาก็ไปหาซื้อพวงมาลัยมาไหว้คุณแม่ เพราะซาบซึ้งที่ดูแลพวกเขาเหมือนลูก และที่สำคัญกว่าสิ่งใด “นักเดินทางเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย”

หลากวัฒนธรรมอาจจะมีความต่างในบางเรื่อง แต่เรื่องที่พวกเขารับรู้เหมือนกันคือความปรารถนาดีของมนุษย์และความอบอุ่นจริงใจที่ “SLA” มีให้ทุกคน .. คุณแม่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่มันไม่สำคัญเพราะพวกเขาสื่อสารด้วยภาษาใจจริงๆ

ถ้าจุดหมายปลายทางของนักเดินทางคือสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม แต่เราเชื่อว่า ร่างของความทรงจำทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นที่จุดปลายสุด แต่มันเกิดขึ้นระหว่างทาง นั่นคือ จุดแวะพักของเราเอง .. ความทรงจำบางอย่าง มันทำให้เราได้หวนกลับไปถึงที่ที่จากมานั่นก็คือ บ้าน และเราเชื่อว่าที่นี่ เต็มเติมสิ่งเหล่านี้แล้ว

“ไลฟ์สไตล์บ้าน คือไลฟ์สไตล์ที่ไม่ต้องเท่ แต่เราสบายใจ”