Neighbors and friends

Piya Fishery

“เพราะทะเลไม่ได้เป็นของคนที่มีเรือ ไม่ได้เป็นของชาวประมง แต่เป็นของทุกคน มีใครบ้างไม่ได้ประโยชน์จากทะเล นักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเล หรือเวลาน้ำท่วมที่ต้องปล่อยน้ำสู่ทะเล ดังนั้นความรับผิดชอบต่อทรัพยากรนี้จึงเป็นของทุกคน”

นี่คือคำพูดของพี่ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ที่มองจากภายนอกเขาคือผู้นำที่แข็งแกร่ง เด็ดเดี่ยว พูดจาตรงไปตรงมาและน่าเกรงขาม แต่เมื่อลองได้คุย เขาก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่มีหัวใจแห่งความเคารพต่อธรรมชาติและเรียนรู้ที่จะรักษาเพื่ออนาคตที่เขามองเห็นอย่างยั่งยืน 

พี่ปิยะเป็นชาวประมง ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านมานานหลายปี จากแหเหวี่ยง สู่เรือยนต์ สู่การเติบโตของเทคโนโลยี พี่ปิยะผ่านมาหมดทุกวิวัฒนาการของประมง จนวันหนึ่งที่อาชีพนี้พัฒนาไปตามกระบวนการทางเวลา ปริมาณเรือมากขึ้น แต่ปริมาณทรัพยากรทางทะเลลดลง คำถามจึงตามมาว่าเพราะอะไร ทำไม และจะทำอย่างไร 

สิ่งที่พี่ปิยะ เทศแย้ม ผู้นำชาวประมงพื้นบ้านคนนี้ทำมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ง่ายมากนั่นก็คือ “การสื่อสารและทำให้เห็น” มันอาจฟังดูง่าย แต่การจะให้ประโยคนี้สำเร็จและเห็นผลกลับเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะต้องแลกมาด้วยความอดทน การต่อสู้ และการพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์

 

แล้วพี่ปิยะทำอย่างไร ?

 

จากการที่เราได้ไปพูดคุย เรียนรู้ และทำความรู้จักชายผู้นี้ เรารับรู้ได้ว่าเขาได้สร้างกระบวนการการเรียนรู้ขึ้นมาในแบบของตนเองผ่าน 4 ขั้นตอนก็คือ “มีสำนึก ทำให้เห็น พัฒนา และนำไปสู่การสื่อสาร” 

 

การมีสำนึก ของพี่ปิยะ คือการมีสำนึกที่จะรู้จักธรรมชาติ เพื่อใช้ธรรมชาติและปกป้องธรรมชาติ เมื่อมีอาชีพจับสัตว์น้ำ ก็ต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามพันธุ์ของสัตว์น้ำด้วย 

 

การทำประมงของพี่ปิยะเรียกว่า การทำประมงพื้นบ้านหรือประมงชายฝั่ง ที่เป็นพื้นที่กำหนดระยะทำประมงได้ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง และเครื่องมือทุกชนิดต้องถูกต้องตามพันธุ์สัตว์น้ำที่จับ เช่นจับปลาทูต้องใช้อวนที่มีตากว้างไม่ต่ำกว่า 4 เซ็นติเมตรเพื่อไม่ให้สัตว์น้ำวัยอ่อนติดมาด้วย ไม่ใช้เรือปั่นไฟเพราะตามกฎหมายระบุว่าไม่อนุญาตให้ใช้เรือปั่นไฟปลากระตักในเขตประมงชายฝั่งทั้งหมด เพราะจะทำให้ลูกปลาเล็กปลาน้อยติดขึ้นมา

และไม่ใช่แค่นี้ พี่ปิยะยังสนใจไปถึงแรงงานประมงด้วยว่าที่จริงแล้วพวกเขาควรได้ค่าตอบแทนมากกว่าแค่ค่าแรงขั้นต่ำ

“แรงงานส่วนใหญ่ก็จ่ายเงินเป็นเดือน ตกลงกันที่ค่าแรงขั้นต่ำ แต่จริงๆมันควรได้เป็นรายได้ และเป็นเปอร์เซ็นต์ด้วย แต่วันนี้เค้าถูกครอบโดยค่าแรงขั้นต่ำ ประมงขนาดใหญ่รวยทุกคน แต่สภาพสังคมไม่ได้ดีขึ้นตาม

พี่ปิยะต่อสู้เรื่องนี้มาหลายปี ต่อสู้จนบางทีตนเองเดือดร้อนแต่ก็ยังสู้ต่อ พี่ปิยะบอกเราว่าในความเป็นจริงถ้าเรื่องนี้มันจะยั่งยืนได้ มันต้องเริ่มจากระบบโควต้า สู่การใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง และการเลือกจับพันธุ์สัตว์น้ำของเรือประมงต่างๆ อย่างเรื่องแรกคือระบบโควต้าที่ประเทศเราเป็นแบบรายวัน ใครจับต่อวันได้มากก็ได้มาก แต่เราควรกำหนดโควต้าเป็นจำนวนวันพร้อมน้ำหนักกิโลกรัม จะทำให้เรือเล็กเรือน้อยเขามีโอกาสได้ปลาหรือสัตว์ทะเลบ้าง 

วิธีที่สองก็คือใช้เครื่องมือที่ถูกต้องกับสัตว์น้ำ เช่นอวนลากต้องมีตากว้างไม่ต่ำกว่า 4 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้จับลูกปลาได้ และปล่อยปลาที่ไม่ได้ขนาดลงสู่ทะเล ไม่ใช้เรือปั่นไฟปลากะตัก เรือคราดหอยลาย ที่จะส่งผลเสียต่อทรัพยากรระยะยาว และต้องนำไปสู่การเลือกจับพันธุ์สัตว์น้ำให้ตรงตามเครื่องมือนั้นด้วย

 

มาสู่ การทำให้เห็นของพี่ปิยะ คือการทำให้คนในชุมชนเห็นความมั่นคงระยะยาวที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อทำแบบนี้ผลที่ได้คือ “ทรัพยากรที่มันมากขึ้นตามมา” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ “ธนาคารปูม้า”

ธนาคารปูม้าของพี่ปิยะก็คือ เมื่อชาวประมงจับปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาได้ ก็จะสามารถนำมาขายให้กับทางธนาคารได้ทุกขนาด ธนาคารจะนำปูเหล่านี้ไปไว้ที่บ่อพัก รอจนสลัดไข่ เพื่อนำไข่ไปปล่อยลงสู่ทะเล จึงจะสามารถนำปูม้าเหล่านี้ไปขายได้ และธนาคารปูม้าแห่งนี้พี่ปิยะใช้เงินตัวเองเป็นจุดเริ่มต้น

ธนาคารปูเริ่มจากผมกับลูกชายด้วยเงิน 18,000 บาท สภาพมันไม่ได้เป็นแบบนี้นะ แรกเริ่มเดิมทีมันเป็นหลุมๆ แล้วเวลาปูมาก็เอาน้ำมาจากคลอง แต่ที่เห็นตอนนี้คือมีคนเห็นเราทำงานและบริจาคเงินให้เรา 260,000 บาท เราก็เอาไปทำสถานที่แสนกว่า ตั้งกองทุนช่วยเหลือชาวประมงในคลองนี้อีก 80,000 บริจาคให้ชุมชนหมู่บ้านอีก 40,000 ทำเสื้อหาเงินเข้าชุมชนอีก 10,000”

ความสำเร็จของธนาคารปูก็คือ ทุกวันนี้พี่ปิยะปล่อยลูกปูลงสู่ทะเลไปแล้ว 296 ล้านตัวโดยประมาณในสองเดือน นับจากค่าเฉลี่ยของไข่ปูที่สามารถอยู่รอดเป็นลูกปูได้ และเคยมีชาวประมงท้องที่บอกกับพี่ปิยะว่าเขาไม่เคยเห็นลูกปูตรงชายฝั่งเยอะขนาดนี้มาก่อน

มีครั้งหนึ่ง มีคนที่เลี้ยงกุ้ง เขามีบ่อพักน้ำ ต้องดูดน้ำในคลองมายังบ่อพัก แล้วเขาต้องการฆ่าเชื้อ แต่ก่อนที่เขาจะฆ่าเชื้อเลยเอาอวนไปดักปลา แต่ปรากฏว่าติดปูจนกระทั่งอวนมองไม่เห็น รีบวิ่งมาบอกผมว่า ในชีวิตนี้เค้าไม่เคยเห็นปูขนาดนี้ นี่คือผลที่เราทำ ที่ประจักษ์ว่าได้ผลจริงๆ

 

แต่การจะก้าวไปสู่ความยั่งยืนได้นั้น ทำให้เห็นคงไม่พอต้องมี การพัฒนา ด้วย เพราะในทุกวันนี้กลุ่มประมงพื้นบ้านทุ่งน้อยแห่งนี้เป็นกลุ่มแรกในประเทศไทยที่ใช้ “ระบบติดตามเรือ” 

ระบบนี้ดีอย่างไร ?
ระบบนี้จะทำให้เราเห็นการเดินทางของเรือทุกลำว่าได้ล่วงล้ำไปในเขตห้ามเข้าหรือไม่ จับสัตว์น้ำมาอย่างไร โดยจะเห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์

ระบบนี้เราจะเห็นวิธีทำการประมง โดยจะเห็นเส้นขี้น้ำหรือรอยเรือที่เดินทางไป มันหลอกเราไม่ได้ เพราะถ้าเราเห็นว่ามีพิรุธเราจะรู้ที่อยู่ของเรือทันทีว่าอยู่ในพื้นที่ห้ามจับรึเปล่า เราต้องการสร้างความตื่นตัว คนที่จะใช้ระบบนี้สามารถนำอาหารมาขายกับเราได้ แต่ต้องให้ประวัติเราหมดว่าใช้เครื่องมืออะไรบ้าง 

และสุดท้าย การสื่อสารหลังจากการพัฒนาทุกสิ่งเพื่อความยั่งยืนอย่างที่ตั้งใจ ก็ต้องเริ่มเข้าสู่การสื่อสาร พี่ปิยะจัดตั้งร้านอาหารทะเลขึ้นมาภายใต้ชื่อ “ร้านคนทะเล” ร้านนี้มีไว้สำหรับเก็บอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อส่งต่อไปยังผู้บริโภคให้ได้รู้สึกว่าอาหารสดสะอาดจริงๆเป็นอย่างไร ที่บอกว่าสะอาดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของวัตถุดิบ แต่เป็นความสะอาดของที่มาว่าได้ปลาตัวนี้มาได้อย่างไร เพราะปลาทุกตัวเป็นปลาที่เกิดจากความถูกต้องและบริสุทธิ์ของอาชีพนี้จริงๆ 

และในอนาคตพี่ปิยะตั้งใจให้อาหารทะเลของร้านคนทะเลทั้งหมด มีบาร์โค้ดติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสแกนผ่านสมาร์ตโฟน และเช็กได้ถึงที่มาของปลาที่คุณกำลังจะซื้อ ว่ามาจากเรือลำไหน จับได้ที่ตรงไหน ละติจูดลองจิจูดเท่าไหร่ และอนาคตจะสามารถคุยกับชาวประมงได้แบบเรียลไทม์ เพราะวันนี้เราไม่ได้แค่จ่ายเงินให้แค่ค่าอาหาร และเราจ่ายเงินให้ความทุ่มเทอย่างจริงใจและซื่อสัตย์ของชาวประมงเหล่านั้นด้วย

 

พี่ปิยะไม่ได้เรียนจบสูงจนได้ใบปริญญาหลายใบ แต่การเป็นชาวประมงที่ดี ความรู้ในหนังสือเรียนไม่ได้เป็นสิ่งการันตี เพราะไม่มีหนังสือเล่มไหนสอนคุณได้ เพราะความรู้ที่ดีที่สุดสำหรับพี่ปิยะและชาวประมงที่นี่ก็คือการเรียนรู้วิถีชีวิต เรียนรู้ความเป็นไปของธรรมชาติและอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน

 

และวันนี้พี่ปิยะได้สร้างสำนึก ทำให้เห็น พัฒนา และสื่อสารกับเราแล้ว หลังจากนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ทำจะสิ่งเหล่านั้นย้อนกลับไปบ้าง สื่อสารกับตัวเองให้มากขึ้น อย่างน้อยทุกครั้งที่ซื้อถ้าเรานึกถึงแหล่งที่มามากกว่าราคาที่กำลังจะจ่าย เราจะมีเวลาสำหรับช่องว่างในความคิดให้สำนึกเรื่องของทรัพยากรและความมั่นคงทางอาชีพได้แทรกซึมเข้ามาบ้าง

 

คนเราในโลกใบนี้มีเรื่องราวให้เราเรียนรู้มากมาย แต่ถ้าเรามองให้แคบลงแต่ลึกขึ้น เราจะเห็นว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราและเรากำลังจะซื้อมัน มันไม่ได้มีค่าเป็นบาท แต่มันเป็นกิโลกรัมของความทุ่มเท ความสุจริต และความสะอาดด้วยใจจริงๆ 

 

และเมื่อมองเห็นแล้ว เราจะเห็นว่าโลกใบนี้ไม่ใช่เพียงแค่ทะเล แต่ทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเราล้วนต้องมีความรับผิดชอบทั้งสิ้น เราต่างได้ประโยชน์ทั้งตรงและอ้อม เพราะฉะนั้นความเคารพในสิ่งที่เราได้มานั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

พบกับอีกหนึ่งเรื่องราวที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้การเคารพวัตถุดิบอย่างมีคุณค่าได้เร็วๆนี้ แล้วคุณจะรู้ว่า ทุกอย่างที่เราได้มาล้วนมีคุณค่ามากกว่า

แค่ใช้ประโยชน์ครั้งเดียว