Neighbors and friends

นักศิลปะบำบัด ผู้สร้าง”สีสัน”ในความมืด

“ครูทราย” นักศิลปะบำบัดผู้สร้าง ”สีสัน” ในความมืด

“คนตาบอดวาดรูประบายสีได้จริงๆหรือ”

หลายครั้งที่คนตาปกติทั่วไปมักตั้งคำถามนี้กับคนตาบอด 

โดยใช้ความสามารถพึงมีที่ตนเองทำได้เป็นตัวกำหนด แต่หากวันหนึ่งเราได้ลองปิดตา 

มองอะไรไม่เห็นเลย เราจะยังคิดว่า “เรามีความสามารถนั้นอยู่หรือไม่”

แน่นอนว่าคำตอบคือ “มี” เรายังวาดรูปได้แม้ตาเราจะมองไม่เห็น 

นั่นเป็นเพราะเรา “เชื่อ” เชื่อว่าเราทำได้ เชื่อว่าอวัยวะที่เหลือของเรายังสามารถทำในสิ่งต่างๆได้ 

แม้ตามองไม่เห็น แต่เรายังมีสองมือ มีความคิด และมี “จินตนาการ” ที่ช่วยให้เราออกแบบผลงานของเราออกมาได้เอง

วันนี้เราได้มาพูดคุยกับ “ครูทราย – พรไพลิน ตันเจริญ” 

คุณครูผู้เป็นนักออกแบบกระบวนการศิลปะและศิลปะบำบัด ในแนวมนุษยปรัชญา 

ที่นำความรู้ของศิลปะผนวกเข้ากับพื้นฐานจิตใจของมนุษย์แต่ละคน ให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจ 

และจินตนาการที่แต่ละคนสามารถสร้างสรรค์มันขึ้นมาได้อย่างอิสระ 

โดยไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม 

และวันนี้เธอนำศาสตร์นั้นมาใช้กับ “เด็กตาบอด” ที่โรงเรียนสอนตาบอดกรุงเทพ 

โดยมีความเชื่อว่า “พวกเขาทำได้”

ครูทราย หญิงสาวที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความมุ่งมั่น 

ได้เล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นคุณครูที่โรงเรียนแห่งนี้ 

ว่าหลังจากเรียนจบด้านศิลปะบำบัดหลักสูตรจากประเทศเยอรมนี 

เธอได้มาทำงานเป็นนักศิลปะบำบัดที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง 

แต่วันหนึ่งเธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเราต้องรอให้ป่วยก่อน แล้วค่อยมาใช้ศิลปะในการรักษาหรือบำบัด 

ทำไมไม่ให้ทุกคนเข้าถึงมันได้โดยที่ไม่ต้องเป็นคนป่วย” 

เธอจึงเป็นฝ่ายเลือกกลุ่มคนที่เธออยากใช้ศิลปะในการบำบัด 

และเธอเลือกเด็กตาบอดที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยเข้ามาขอสอน และออกแบบห้องเรียนศิลปะให้ที่นี่ใหม่

“โรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นเหมือนโรงเรียนทั่วไปค่ะ 

แต่มีการเรียนการสอนและหลักสูตรสำหรับผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ 

เราจึงเลือกสอนศิลปะเพราะเรามีความรู้ด้านนี้ เราจึงขอเข้ามาสอน 

และมาปรับปรุงห้องเรียนเพื่อให้เอื้อความสะดวกแก่นักเรียนมาก ที่สุด”

ครูทรายจึงใช้ความรู้ด้านสถาปัตย์ที่เธอเรียนมาในระดับปริญญาตรี 

เข้ามาออกแบบห้องเรียนศิลปะนี้ใหม่ 

ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดสำหรับติดผลงานนักเรียนที่พวกเขาสามารถรับรู้ได้ว่านี่เป็นพื้นผิวอะไร 

ไปจนถึงโต๊ะเรียน ชั้นวางของที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับนักเรียน 

โดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครที่เต็มใจช่วยเหลือจนสำเร็จไปด้วยดี

“ตอนเห็นห้องเรียนครั้งแรกเราค่อนข้างตกใจ เพราะว่าค่อนข้างเก่าและไม่ปลอดภัย
เช่น เด็กๆที่นี่เค้าจะทดสอบว่าตรงไหนเป็นผนัง หรือเป็นหน้าต่าง
ด้วยการปาของใส่ ถ้าของโดนผนังแปลว่าปลอดภัย
แต่ถ้าของหายไปเลย แปลว่าตรงนั้นคงเป็นหน้าต่าง เด็กๆก็จะไม่เดินไป
บางทีถ้าสิ่งที่เค้าปาเป็นแก้ว ก็จะอันตรายมาก เราเลยต้องออกแบบแล้วคำนึงถึงเรื่องนี้ที่สุด”

และหลังจากรีโนเวทห้องเรียนเสร็จแล้ว 

….

ครูทรายก็เริ่มการเรียนการสอนศิลปะด้วยการใช้ “สี” กับเด็กตาบอด 

โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่นที่ทำสีพิเศษขึ้นมาทั้งหมด 5 สี ได้แก่ สีเหลือง แดง น้ำเงิน ขาว และดำ โดยใช้ “กลิ่น” เป็นตัวจำแนกสี

“กลิ่น” เป็นประสาทสัมผัสพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ติดตัวมา

แต่การรับรู้ด้วยกลิ่นจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเราลองปิดประสามสัมผัสบางอย่างไป 

เช่น การมองเห็น และกลิ่นเหล่านี้จะส่งผลให้กลายเป็นภาพในความคิด 

ซึ่งอาจจะเป็นการคิดถึงภาพของความทรงจำ ภาพของธรรมชาติที่คุ้นเคย 

หรือภาพเหนือจินตนาการแล้วแต่บุคคลจะนึกขึ้นมาได้

……

การเรียนการสอนในที่นี่ จึงทดลองให้เด็กๆได้ดมกลิ่น โดยที่ไม่บอกว่าเป็นสีอะไร 

แล้วให้พวกเขาได้ละเลงสีต่างๆลงบนกระดาษตามจินตนาการ 

บางคนบอกว่าสีน้ำเงินทำให้เขานึกถึงกลิ่นน้ำ กลิ่นผงซักฟอก กลิ่นน้ำหอมของพ่อ 

หรือสีเหลืองทำให้เขานึกถึงความสว่าง ความหอมของแป้ง หรือความสดใสเป็นต้น 

ดังนั้นภาพที่ออกมา คุณจะไม่สามารถตัดสินมันได้ด้วยตา 

เพราะมันคือความจริงจากความคิดที่น้องตาตาบอดเหล่านั้นถ่ายทอดออกมา

“ก่อนหน้านี้มีคนถามเราว่า เราให้เด็กๆตาบอดระบายสีไปทำไมกัน 

ในเมื่อคนที่มองเห็นภาพเหล่านี้ล้วนเป็นคนตาดี น้องๆมองไม่เห็นเลยด้วยซ้ำ 

เราจึงคิดวิธีที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า การวาดภาพแบบมองไม่เห็นมันคือศิลปะอย่างหนึ่งจริงๆ เราจึงเกิดคำว่า “บัดดี้ (Buddy)” ขึ้นมา

……

“บัดดี้” ก็คือ อาสาสมัคร ไม่ว่าจะเป็นคนตาบอดหรือคนตาดีก็ได้ คนที่เป็นบัดดี้จะต้องปิดตาและวาดภาพกับน้องตาบอด

 

เมื่อผ้าได้มาปิดที่ตาของเรา ตอนนี้เราเท่ากันแล้ว เราตัดประสาทสัมผัสของการมองเห็นออกไป 

เราตื่นเต้น เรากลัว เรากังวล แต่สิ่งที่ทำให้เราคลายกังวลคือ 

การที่คนข้างๆเรา เค้าเป็นเหมือนกับเรา และที่มากกว่านั้นกลายเป็นว่า 

น้องตาบอดที่เราคอยช่วยเหลือตอนเรามองเห็น กลับต้องมาช่วยเราในตอนนี้ด้วยซ้ำ

ดังนั้น อคติ หรือ ข้อกังขาใดจะลดลงไปทันที เมื่อเราไม่รู้สึกว่าใครด้อยกว่า หรือ เหนือกว่า แต่รู้สึกว่า “เราเท่ากัน”

นอกจากงานระบายสี ครูทรายยังสอนเด็กๆให้เรียนรู้เรื่องการปั้น 

โดยเด็กทุกคนจะได้รับแป้งโดว์ สำหรับปั้นคนละ 1 ลูก 

เด็กๆจะต้องปั้นเป็นวงกลมให้กลมที่สุด และส่งต่อไปให้เพื่อนรอบวง 

เมื่อเพื่อนได้รับก็ต้องปั้นต่อให้กลมขึ้น วิธีนี้ครูทรายบอกว่า 

เด็กๆจะเรียนรู้การสัมผัส และการช่วยเหลือกัน เพื่อให้แป้งนั้นกลมและนิ่มที่สุด

 จากนั้นพวกเขาก็จะลงมือปั้นเป็นรูปต่างๆตามจินตนาการพร้อมลงสีเพื่อให้เกิดความสวยงาม ซึ่งนี่คือ “ทักษะที่พวกเขาสามารถออกแบบเองได้”

ผลงานศิลปะของน้องตาบอดที่ทุกคนเห็นอยู่ตอนนี้ คำตัดสินในใจเราหลายคนคือคำว่า “สวย” และ “ไม่สวย”
แต่การได้มาพบกับครูทรายในครั้งนี้ มันทำให้รับรู้ได้อย่างหนึ่งว่า
คนตาดีทั้งหลาย เรารู้จักและตัดสินความสวยงามได้ เพราะเราใช้สายตามอง

……
แต่ผลงานของน้องๆเหล่านี้ คำว่า “สวย” มันไม่เคยถูกบัญญัติไว้เลย
และมันตัดสินด้วยคำนี้ไม่ได้ เพราะงานทุกชิ้นมันคือ “ความจริงจากจินตนาการของชีวิต”

……
อยากให้ทุกคนได้ลองปิดตา และเปิดใจไปกับชีวิตสักครั้ง
แล้วคุณจะมองเห็นสีสันที่มากกว่ามนุษย์กำหนด
แต่เป็นสีสันที่คุณสามารถออกแบบได้เองตามจิตใจและจินตนาการของแต่ละคนกำหนด
พร้อมอคติที่ลดลง และรู้สึกว่า ไม่ว่าใครก็ “เท่ากัน” ในแบบของตนเอง