“จากดินสู่น้ำ” … จากฟาร์มลุงรีย์ไปยังชาวประมง
“จากน้ำสู่ชีวิต” … จากชาวประมงส่งต่อผ่านเชฟโป้งไปยังผู้บริโภค
“และจากชีวิตก็กลับสู่ดิน”
จากผู้บริโภคผ่านแนวความคิดของเชฟปาร์ค ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบสูงสุดแล้วคืนทั้งหมดลงสู่ดิน เพื่อสร้างชีวิตต่อชีวิตอีกครั้ง…
“นี่คือวงจรของมนุษย์และอาหารที่เชื่อมโยงกันอย่างไม่จบสิ้น” เป็นวงจรที่ไม่มีปลายทางแต่มีระหว่างทางให้เรารับรู้ถึงคุณค่า และขึ้นอยู่กับว่า “ใครกันที่จะมองเห็นและตระหนักได้จริง”
การลงเรือของเพื่อนบ้านผ่านวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ ได้ดำเนินมาถึงจุดที่ใกล้กับชีวิตของเราทุกคนมากขึ้น เราพาทุกคนไปยังชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ไปเรียนรู้เรื่องราวของวิถีชีวิตคนทะเล การต่อสู้ ความพยายาม และวิธีที่เขากำลังสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยการผ่านตัวกลางอย่างเชฟ เรียนรู้แนวความคิดของเชฟที่มีต่อวัตถุดิบ และจนมาถึงการต้องคืนประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคอย่างเรากลับสู่ธรรมชาติอีกครั้ง ด้วยแนวความคิดของเชฟอีกหนึ่งคน
“เชฟปาร์ค ภัทรวิทย์ จันทร์ไทย” ผู้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านอาหารของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มหาชน และเป็นเจ้าของร้าน CHIM RAMEN BANGKOK ผู้พร้อมใจลงเรือไปกับเรา ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างความตระหนักที่แท้จริงว่า ทรัพยากรธรรมชาติจะเกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต่อเมื่อใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุดจนไม่เหลือสิ่งที่เรียกว่า “ขยะไร้ประโยชน์” ก่อนที่จะปล่อยทุกอย่างกลับสู่ดิน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้ชีวิตอื่นต่อไป
เราพาเชฟปาร์คลงเรือไปกับเรา พร้อมกับโจทย์ที่ว่า “ถ้าวันนี้เรากินอาหารทะเลอิ่มแล้ว เชฟปาร์คจะทำอย่างไรกับเศษอาหารเหล่านั้น เพื่อให้เราได้เห็นว่ามันเกิดประโยชน์ได้จริงๆ” .. ซึ่งมันอาจดูเป็นโจทย์ที่ง่าย แต่วิธีทำให้มันเกิดจริงๆไม่ง่ายเลย
และสิ่งที่เชฟปาร์คทำ ก็คือบอกเราว่า “ผมจะเอาเปลือกกุ้งไปทำน้ำสต็อกราเมง เปลือกกุ้งหรือหัวกุ้งเหล่านี้สามารถทำให้รสชาติอาหารอร่อยได้ แต่ก็ต้องมีวิธีการปรุง” เชฟปาร์คสาธิตวิธีการทำพร้อมนำวัตถุดิบทุกอย่างขึ้นเรือประมงไปกับเราด้วย และเริ่มทำ
ราเมงซุปเปลือกกุ้งกันบนเรือกลางทะเล
ความพิเศษของราเมงชามนี้ ไม่ใช่เพราะเราไปกินกันกลางทะเล แต่ความตระหนักระหว่างกินต่างหากที่เราได้สัมผัส เราทุกคนเลือกกินกุ้งแค่เนื้อ แต่เปลือกและส่วนอื่นๆ เราปล่อยมันให้กลายเป็น “ขยะ” จริงอยู่ที่เปลือกเหล่านี้คืออินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายเองตามธรรมชาติได้ แต่หลายๆครั้งเราก็ลืมตัวทิ้งเศษเหล่านี้รวมไปกับถุงพลาสติกหรือกล่องโฟม จนสุดท้ายกลายเป็นขยะไร้ประโยชน์
และอีกหนึ่งความพิเศษของราเมงชามนี้ ก็ไม่ได้อยู่ที่เชฟปาร์คตีโจทย์ได้สำเร็จ เพราะไม่เหลือเศษอาหารอะไรเลย แต่วิธีการแก้โจทย์นี้ของเชฟปาร์ค มันคือวิธีเดียวกันที่เขาใช้เป็นปรัชญาในการทำธุรกิจ นั่นคือ “ทุกสิ่งมันจะมีคุณค่ามากที่สุด ก็ต่อเมื่อเราใช้ประโยชน์จากมันสูงที่สุด”
และแนวความคิดนี้มันไม่ใช่แค่อยู่ที่เชฟปาร์คคนเดียว แต่ได้ถ่ายทอดไปยังพนักงานในร้าน ดังนั้นการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด มันไม่ใช่แค่ดูเท่ แต่มันจะทำให้พวกเขารู้สึกหวงแหน จากเคยใช้วัตถุดิบปรุงอาหารแบบทิ้งๆขว้างๆ พวกเขาจะรู้ว่าวันหนึ่งมันต้องหมดไป และในอนาคตพวกเขาจะรู้เองว่าจะจัดการกับวัตถุดิบตรงหน้าอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด
นี่อาจจะเป็นแค่หนึ่งตัวอย่างของเชฟคนหนึ่ง ที่มุ่งมั่นในการใช้ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เชฟปาร์คทำมันคือ “ธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนควรจะทำ”
เรา ธรรมชาติ และทรัพยากร ต่างเชื่อมโยงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้เราจะเป็นตัวกำหนดการใช้งานทรัพยากร แต่สุดท้ายเราก็อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ แม้แต่ร่างกายวาระสุดท้ายของเราก็ยังคืนสู่ดิน ทำไมในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่ เราจึงไม่คืนทุกชีวิตลงสู่ดิน เพื่อต่อชีวิตใหม่ให้เกิดขึ้นได้อีกมากมาย
และถ้าคุณทำได้ .. คุณจะเห็นความสัมพันธ์ที่สวยงามที่สุด ของมนุษย์และธรรมชาติ
และแม้ซีรีส์ ดิน น้ำ ชีวิตของเพื่อนบ้านเราจะจบลง แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างยังคงหมุนเป็นวงกลมตลอดไป