Neighbors and friends

“ ผ้าธรรมดาที่ไม่ธรรมดา ”

กับการเดินทางของลายผ้า ที่เปรียบเสมือนลายแทงของความหมายในชีวิต และความเชื่อมั่นในธรรมชาติของตัวเอง
ป้าจิ๋ว ประไพพันธ์ แดงใจ ผู้ก่อตั้งผ้าย้อมครามแม่ฑีตา

“ใครกันที่จะรู้อนาคต” แต่เชื่อไหมว่าที่จริงแล้วเราสามารถรู้อนาคตของตัวเอง
และกำหนดมันให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเรา “เชื่อมั่นและจริงใจกับตัวเองมากพอ”

เพราะหลังจากที่เราได้พูดคุยกับ กับ “ป้าจิ๋ว ประไพพันธ์ แดงใจ”
ผู้ก่อตั้งผ้าย้อมครามแม่ฑีตา ผ้าสีครามทีมีเอกลักษณ์ของลายผ้าที่ไม่เหมือนใคร
และทำให้เราสะดุดตาตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น และเมื่อเราลงลึกไปถึงที่มาของผ้าเหล่านี้
เรากลับพบการเดินทางของลายผ้า ที่เปรียบเสมือนลายแทงของความหมายในชีวิต
และความพยายามของป้าจิ๋ว ผู้สร้างผ้าผืนนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

การเดินทางของผ้าย้อมครามแม่ฑีตา ราวกับการเดินทางของป้าจิ๋วตลอดชีวิต

#การเดินทางก้าวที่ 1

ก้าวแรกที่ไม่รู้อะไรเลย รู้เพียงแค่ “ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขั้น”
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมในไทย ถ้าใครยังจำกันได้ เราจะเห็นว่าหลาย ๆ อุตสาหกรรมพื้นบ้านของไทยได้หายไป และเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรแทน หนึ่งในนั้นก็คือ
#ผ้าย้อมคราม โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ทั้งหมดหายไปพร้อมกับความรู้ความสามารถของคนรุ่นเก่าที่ไม่ได้ถ่ายทอดมาสู่ลูกหลาน แต่หลังจากที่ป้าจิ๋ว ผู้เป็นสาววัยรุ่นในสมัยนั้น ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะกลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงปี 2535 หลังจากใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มานาน ประกอบกับลูกสาวมีอาการป่วยจากสภาพอากาศในเมือง และเมื่อมาถึงป้าจิ๋วได้ตั้งใจจะกลับมาทำผ้าย้อมครามอีกครั้ง เพราะคือผ้าชนิดเดียวที่ป้าจิ๋วใส่ตั้งแต่ยังเด็ก แม้กระทั่งเติบโตเป็นนักศึกษาก็ยังใส่ผ้าย้อมคราม

“ป้าใส่ผ้าย้อมครามแบบนี้มาตั้งแต่เด็กนะ คือคุณยายทำผ้าย้อมครามนี่แหละ แต่หลังจากคุณยายเสียมันก็จะมีเศษผ้าเหลือ ๆ เราก็เอามาตัดกระโปรงนักเรียน จนเราเรียนจบมหาวิทยาลัย
เราใช้ผ้ากระโปรงตัวนั้นมาตั้งแต่ปี 1 นิสัยเราไม่ชอบรีดผ้า ผ้าครามเนี่ยเวลาเป็นกระโปรงนักเรียน ข้อดีคือซักง่าย ตากแล้วแห้งเลย ไม่ต้องรีด ตั้งแต่ปี1 ถึง ปี4 ผ้าเราไม่เสียหายเลย
มีแต่สวยกับสวย พอเราเรียนจบเราก็อยากหามาตัดใส่อีก แต่มันไม่มี เราเลยประทับใจตรงนี้แหละที่พยายามหา “แต่มันไม่มี”

จากความชื่นชอบ สู่ความท้าทายในการฟื้นฟูสิ่งที่มันหายไปแล้วให้กลับคืนมา ป้าจิ๋วจึงเริ่มจากฟื้นความทรงจำของคุณแม่ที่เคยทำผ้าย้อมครามสมัยเด็ก ๆ
แต่เลือนหายไปตามกาลเวลา ให้กลับมาอีกครั้ง “ตอนกลับมาช่วงแรก ป้าก็ถามคุณแม่ แต่คุณแม่จำได้ลาง ๆ มาก คุณแม่ทำตั้งแต่สมัยคุณยาย สมัยอายุ 7-8 ขวบ แต่พอคุณแม่เติบโต สิ่งเหล่านี้มันหายไปในยุคเขา คือคนโบราณอีสานเวลาอยู่บ้านนอก วัฒนธรรมคือถ้ามีลูกสาวจะต้องทอผ้า ถ้าลูกของลูกสาวจะแต่งงาน ก็มาทอกับแม่เพื่อเตรียมออกเรื่อน ไม่ว่าจะผ้าห่ม ผ้าขาวม้าสามี ผ้าห่มลูก ผ้าทุกอย่าง จะต้องทอผ้าเตรียมไว้เลยล่วงหน้า 4-5 เดือน คุณแม่ของป้าก็พยายามหนักมากนะที่จะจำให้ได้ ลองผิดลองถูกกันหลายอย่าง”

“ป้าใส่ผ้าย้อมครามแบบนี้มาตั้งแต่เด็กนะ คือคุณยายทำผ้าย้อมครามนี่แหละ แต่หลังจากคุณยายเสียมันก็จะมีเศษผ้าเหลือ ๆ เราก็เอามาตัดกระโปรงนักเรียน จนเราเรียนจบมหาวิทยาลัย
เราใช้ผ้ากระโปรงตัวนั้นมาตั้งแต่ปี 1 นิสัยเราไม่ชอบรีดผ้า ผ้าครามเนี่ยเวลาเป็นกระโปรงนักเรียน ข้อดีคือซักง่าย ตากแล้วแห้งเลย ไม่ต้องรีด ตั้งแต่ปี1 ถึง ปี4 ผ้าเราไม่เสียหายเลย
มีแต่สวยกับสวย พอเราเรียนจบเราก็อยากหามาตัดใส่อีก แต่มันไม่มี เราเลยประทับใจตรงนี้แหละที่พยายามหา “แต่มันไม่มี”

จากความชื่นชอบ สู่ความท้าทายในการฟื้นฟูสิ่งที่มันหายไปแล้วให้กลับคืนมา ป้าจิ๋วจึงเริ่มจากฟื้นความทรงจำของคุณแม่ที่เคยทำผ้าย้อมครามสมัยเด็ก ๆ
แต่เลือนหายไปตามกาลเวลา ให้กลับมาอีกครั้ง “ตอนกลับมาช่วงแรก ป้าก็ถามคุณแม่ แต่คุณแม่จำได้ลาง ๆ มาก คุณแม่ทำตั้งแต่สมัยคุณยาย สมัยอายุ 7-8 ขวบ แต่พอคุณแม่เติบโต สิ่งเหล่านี้มันหายไปในยุคเขา คือคนโบราณอีสานเวลาอยู่บ้านนอก วัฒนธรรมคือถ้ามีลูกสาวจะต้องทอผ้า ถ้าลูกของลูกสาวจะแต่งงาน ก็มาทอกับแม่เพื่อเตรียมออกเรื่อน ไม่ว่าจะผ้าห่ม ผ้าขาวม้าสามี ผ้าห่มลูก ผ้าทุกอย่าง จะต้องทอผ้าเตรียมไว้เลยล่วงหน้า 4-5 เดือน คุณแม่ของป้าก็พยายามหนักมากนะที่จะจำให้ได้ ลองผิดลองถูกกันหลายอย่าง”

#การเดินทางก้าวที่ 2

ก้าวต่อมาคือการให้กำลังใจให้กันและกัน จากฟางเส้นเดียว กลายเป็นสองเส้น และในที่สุดก็สำเร็จเป็นกองฟางที่ต้องการ

ตอนนั้นคืออุปกรณ์ไม่มีเลย เม็ดครามก็ไม่รู้จะหาจากไหน แต่เราก็ให้กำลังใจคุณแม่ เราเชื่อมั่นนะว่าเราทำได้ เชื่อมั่นมาก ๆ เพราะเราหยิ่งผยองว่าเราเป็นคนคุณภาพ เราได้เรียนจบปริญญา เรามีคุณภาพ และต้องมั่นใจว่าเราคุณภาพที่ดีที่สุด เราได้กำลังใจคำตอบ ที่เราตอบเองว่าเราเลือกชีวิตนี้ นี่คือธรมชาติของเรา เราเลยค่อย ๆ สู้ไป และให้กำลังใจคุณแม่ว่าไม่ต้องห่วงนะ ถ้าเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ มีคนที่อยากเห็นเราทำสำเร็จมากมาย”

จากกำลังใจนี้สู่การเดินทางที่ใช้การปะติดปะต่อร่องรอยความทรงจำ ให้มันสมบูรณ์มากขึ้น

“คุณแม่พยายามปะติดปะต่อเอา เราสืบหาเมล็ดพันธุ์คราม สืบหากระบวนการต่อหม้อย้อมคราม ส่วนคุณแม่ก็วิจัยด้วยตัวเอง เขาจะจำข้อมูลที่เราไปเก็บจากยายบ้านนู้น ยายบ้านนี้
แล้วเอามาสังเคราะห์ วิเคราะห์ด้วยตัวเขาเอง แบบหม้อนี้ของยายนี้ หม้อนี้ของยายนี้ และหม้อนี้ของแม่เอง เหมือนนักทดลองเลยแหละ พอเขาทำได้ เขาดีใจมากเลยนะ
เรียกเราไปดูแล้วร้องแบบ มันมาแล้ว มาดูเร็ว มันมาแล้ว เขาดีใจมากเลย เขาก็ค่อย ๆ จุ่มผ้าแล้วบอกว่า มึงเห็นมั้ย เนี่ยมันเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง จากสีเหลืองผ่านออกซิเจน
นานเข้าเปลี่ยนเป็นสีฟ้า พอจุ่มลงไปซ้ำเริ่มเป็นฟ้าเข้ม และก็เข้มขึ้น แล้วเขาก็บอกว่า โอ๊ย กูรู้แล้ว กูทำได้แล้ว จากหม้อครามหนึ่งหม้อ ก็กลายเป็นสองหม้อ และเป็นร้อยหม้อ
มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเลยแหละ”

ในที่สุดผ้าย้อมครามในความพยายามของป้าจิ๋วและคุณแม่ก็เกิดขึ้น เกิดขึ้นในชื่อว่า “ผ้าย้อมครามแม่ฑีตา” ชื่อของคุณแม่ผู้เป็นพลังวิเศษของป้าจิ๋วนั่นเอง

#การเดินทางก้าวที่ 3

ก้าวแห่งการต่อสู้ ทั้งภายในใจของตัวเองและสังคมที่เป็นอยู่

แม้ผ้าย้อมครามแม่ฑีตาจะสำเร็จ แต่ไม่มีการเดินทางไหนบนโลกใบนี้ที่จะไม่มีอุปสรรค
การเดินทางนี้ก็เช่นกัน กับการต่อสู้ในสังคมของที่บ้านที่มองว่า “เราคือผีปอบ”
เพียงเพราะมีหม้อย้อมครามมากกว่า 2 หม้อในบ้าน

“ถ้าใครมีหม้อครามเกิน 2 หม้อที่บ้าน เขาว่าเป็นผีปอบ เพราะในหม้อที่เอาไว้ย้อม
ชาวบ้านเขาไม่รู้ว่าในนั้นมันคือจุลินทรีย์ เข้าคิดว่ามันคือสิ่งลี้ลับ เวลาคนโบราณไปย้อมผ้า
ในหม้อต้องแบบไปเบา ๆ อ่อนน้อมถ่อมตัว มันเหมือนไปคุยกับสิ่งลี้ลับ เวลาฝนตกฟ้าร้อง
ก็จะเอาผ้าไปปิด และบอกกับสิ่งที่อยู่ในหม้อว่าอย่าหนีนะ อย่าตกใจนะ จนมีคำโบราณ
ที่พูดกันเวลามีแขกไปใครมาว่า “อย่ามาหนีไปคือหม้อนิลเน้อ” หมายถึงถ้าไปมาหาสู่
อย่าหนีหายไปแบบไม่ลามาไม่ไหว้ เหมือนหม้อนิลก็คือหม้อย้อมครามนี่แหละ
เพราะนิลมันคือไม่ดำนั่นแหละ แต่สุดท้ายป้าก็ไม่กลัวนะ มันต้องสู้ เราเชื่อมั่นในตัวเรา
ในสิ่งที่เราทำ ผ้าย้อมครามเนี่ยมันไม่มีอะไรไม่ดีเลย มันไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ไม่ใช้สารเคมี
ปลอดภัย และยังส่งต่อภูมิปัญญา มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะต้องกลัวในสิ่งที่เราทำดี”

แต่อุปสรรคก็ไม่ได้มีเพียงแค่เท่านี้ ที่หมู่บ้านป้าจิ๋วต่อสู้กับความเชื่อ แต่เมื่อนำผ้ามาขายที่กรุงเทพ ฯ ป้าจิ๋วก็ยังต้องต่อสู้กับความนิยมและทัศนคติของผู้คนที่มากกมายกว่าเดิม
“พอมาขายในเมือง ป้าเจอคำถามแบบนี้ตลอด ผ้าอย่างนี้มันแพงยังไง แพงกว่าผ้าไหมอีก หรือคำถามที่เรารู้สึกว่าท้าทายก็คือ เบื่อจัง สีมันตก แต่เอาจริง ๆ
ผ้าครามที่แท้จริงที่ได้จากธรรมชาติสีมันไม่ตกนะ มันไม่ติดสีขาว เราโดนแบบนี้อยู่นาน จนมันมีงานวิจัยจากอาจารย์ที่จุฬาฯ มาช่วย มันคือวิทยาศาสตร์ สีมันไม่ตก ไม่ใช่แค่นั้นนะ
เรายังเจอเรื่องแฟชั่นอีก เราทำผ้า แต่เราไม่ได้จบแฟชั่น เราไม่ได้มีการออกแบบ มันเลยทำให้คนที่ซื้อผ้าเราใส่ เขาถูกมองว่าเชย กลัวแก่ แล้วเราก็มีแค่สองสี ทำยังไงให้คนใส่แล้วดูดี
มันยากมาก เพราะทุกคนดูดีไม่เหมือนกัน จนกระทั่งมีกระแส OTOP เราก็เริ่มมีคนยอมรับมากขึ้น”

#การเดินทางก้าวที่ 4

ก้าวแห่งการยอมรับและส่งต่อพลังบวกให้แก่กัน

แม้อุปสรรคจะมากแค่ไหน แต่มุมมองของป้าจิ๋วยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่น ความจริงใจ และความเคารพผู้อื่น จนทำให้ป้าจิ๋วมองเห็นลูกค้าตัวจริง
และลูกค้าตัวจริงเหล่านั้นก็เห็นเสน่ห์ของผ้าย้อมครามแม่ฑีตา เสมือนถูกดึงดูดให้มาพบกัน

“ลูกค้าทุกคนเหมือนมีบุญคุณกับเราเลยนะ ทั้งคนซื้อและไม่ซื้อ เพราะจากการขายแค่ผ้าสองสี มันทำให้เราได้คำตอบหลายอย่าง อย่างแรกคือคนที่จะเดินเข้ามาหาเป็นคนที่ไม่ชอบสีแดง สีส้ม ลึกเข้าไปก็คือข้างใน เป็นคนที่เข้าถึงธรรมชาติ เห็นคุณค่าของธรรมชาติ เป็นคนที่ชอบเรียบ ๆ และมีคุณค่า มันก็เลยคุยกันถูกคอ เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ป้าไม่ได้ได้ลูกค้านะ ป้าได้เพื่อน
เพื่อนที่ใจดี ใจจริงกับเรา จากสีผ้าที่เราทำ เขาซื้อผ้าเราไปแล้วก็ใส่มาให้เราดู มีคนมาเยี่ยม ซื้อของอร่อย ๆ มาให้กินตลอดทุกวันนี้ร้านป้ามีเก้าอี้เต็มไปหมด เพราะคุณลุงคุณป้าที่เป็นลูกค้าเขาชอบมานั่งคุยเหมือนเป็นเพื่อนขายของไปเลย”

หลังจากนั้นป้าจิ๋วก็ค่อย ๆ ปรับจากขายผ้าเมตร เป็นการขายแบบแปรรูป ตัดแพทเทิร์นเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากขึ้น แต่ความพิเศษที่เราเองก็ยังคาดไม่ถึงก็คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูปเหล่านั้น
มีตัวเดียว ชิ้นเดียวในโลก เสมือนกับเป็นชุดที่รอจ้าของตัวจริงมาเลือก เพราะป้าจิ๋วบอกเราว่า เขาอยากให้ลูกค้าทุกคนคือคนพิเศษจริง ๆ ทั้งของเขาเองและของเรา

“แต่ก่อนการแปรรูปมันไม่มี มันมีแต่ผ้าเมตรแบบนี้ แต่ลูกค้าก็บอกให้เราลองเอามาตัดดู เราก็เลยเริ่มแปรรูปของเรา แต่มันคือตัวเดียว ชิ้นเดียว เพราะเราไม่อยากให้เป็นเสื้อโหล เราไม่อยากให้ใครที่ซื้อเสื้อเรา เค้าไปเจอว่าอ้าวคนนั้นก็ใส่ คนนี้ก็ใส่ พอเขาถ่านรูปมาให้เราดูมันก็มีกำลังใจให้เราต่อไป แล้วเราก็เอารูปไปให้คุณแม่ดูแม่ก็บอก “โอ๊ย ดูเขาคืองามแท้”

#การเดินทางของก้าวต่อไปนับจากนี้

การเดินทางของก้าวต่อไปนับจากนี้ คือ การขอบคุณลูกค้าที่ผ่านเข้ามาและขอบคุณตัวเองตลอดไป

การเดินทางไม่ใช่งานเลี้ยง ที่จะมีวันเลิกรา นอกจากเราล้มเลิกมันไปเสียเอง ผ้าย้อมครามแม่ฑีตาของป้าจิ๋วก็เช่นกัน นี่ยังคงเป็นการเดินทางอีกแสนยาวไกลตลอดชีวิตของผู้หญิง
คนหนึ่ง แต่การเดินทางนี้เป็นการเดินทางที่แสนพิเศษ เพราะไม่ใช่แค่เดินทางบนความเชื่อมั่น แต่เป็นการเดินทางร่วมกันของอีกหลายชีวิตที่มีความสุขในสิ่งเดียวกัน

“สิ่งที่อยู่ในผ้ามันคือชีวิตเลยนะลูก ไม่ใช่แค่การเลือกคนที่จะมาซื้อ แต่มันคือชีวิตตั้งแต่ตอนผลิตผ้า ผ้าเหล่านี้เกิดจากชีวิตคนในชุมชน เราใช้คนเถ้าคนแก่ที่มีวิถีชีวิตผูกพัน
กับผ้าย้อมคราม ให้เขาทำอยู่บ้าน ไม่รีบเร่ง เขาสามารถเลี้ยงวัวควาย เลี้ยงลูกไปด้วย ทำไปด้วยได้ มีรายได้และได้อยู่กับครอบครัว สิ่งแวดล้อมเราก็ไม่ทำร้าย อะไรเหลือ ๆ
ชาวบ้านเขาก็เก็บมาทำฟืนไฟก่อหม้อคราม มองยังไงมันก็ชีวิตทั้งนั้น ต่อจากนี้ป้าก็ยังไม่หยุดทำหรอกลูก หยุดได้ยังไงมีชีวิตเต็มไปหมด ป้าคงต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง
และขอบคุณตัวเองนี่แหละ มันดีที่สุดแล้ว

#การเดินทางของอีกหลายคนที่มีความฝันเหมือนกัน

ส่งต่อพลังบวกให้ทุกก้าวของเพื่อนบ้านทุกคน
ก่อนจบบทสนทนาเราได้ขอให้ผ้าจิ๋วฝากถึงเพื่อนบ้านทุกคนที่กำลังมีความฝัน ป้าจิ๋วพูดได้น่ารักมาก ๆ ป้าจิ๋วบอกพวกเราว่า

“ถ้าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำมันดี ให้ปล่อยตัวเราเองไปตามธรรมชาติ ตราบใดที่เรายังไม่ทำ เราจะไม่รู้เลยว่ามันให้อะไรกับเราและคนอื่นด้วย แต่จริง ๆ เรานี่แหละที่ได้ก่อนเลย
ได้อดทน ได้เพียรพยายาม มีความรักจริง ๆ ในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราเห็นคุณค่ามันนะ เราจะไม่หวั่นไหวเลย ป้าจิ๋วเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่เห็นในวันนี้ก็เห็นในรุ่นลูกรุ่นหลาน
และป้าจิ๋วก็มีความตั้งใจที่จะส่งต่อ ถ้าป้าจิ๋วท้อแท้ตอนนั้นมันก็ไม่เกิด เม็ดครามก็สูญหายไป มันหายไปนานเกือบ 50 ปี ป้าจิ๋วเลยต้องกลับบ้าน ต่อให้เราโดนดูถูก
แต่เราเป็นคนคุณภาพ เราต้องพิสูจน์ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าของเราดี และเราเป็นคนคุณภาพ ของของเราจะออกมาอย่างมีคุณภาพ”

เราไม่แปลกใจเลย ที่ทำไมในวินาทีแรกที่เราเห็นผ้าย้อมครามของป้าจิ๋ว สายตาของเราที่ส่งผ่านความคิดไปยังสมอง มันจึงให้เราคิดว่า “ผ้าผืนนี้สวยจัง” มากกว่าคิดว่า
“ผ้าผืนนี้ก็สีคราม” เพราะที่มากกว่าสีสัน คือสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน ความสวยงาม ความละเมียดละไม ความพิเศษที่บ่มเพาะมาจากชีวิต มันสื่อสารออกมาแบบนี้นี่เอง

ขอให้การเดินทางของผ้าย้อมครามแม่ฑีตาจากป้าจิ๋ว คือตัวอย่างของลายแทงแห่งความฝันและความหมายในชีวิตให้เพื่อนบ้านทุกคน
ได้หาสิ่งนั้นของตัวเองเจอ

เชื่อเราเถอะ “ทุกแผนที่การเดินทางของเราไม่มีใครบนโลกนี้ที่เขียนแล้วเข้าใจมากกว่าตัวเราเองหรอก” ขอให้เชื่อมั่นในความสมดุลของธรรมชาติในตัวเองและจริงใจกับตัวเอง
เราจะสร้างมันขึ้นมาได้ และมองเห็นอนาคตของตัวเราเองชัดเจนขึ้น