“มนุษย์เกิดมากายาก็เท่านี้” นี่คือประโยคหนึ่งในการสนทนากับ “ป้าจันทร์ ลภัสรดา ทศรัศมิ์” ผู้ก่อตั้งสวนศิลป์หนองมน
ผู้ซึ่งทำให้วันนี้ของเราได้เหมือนเปิดตาขึ้นอีกครั้ง พร้อมมองเห็นว่า ธรรมชาติไม่ใช่แค่เรื่องของต้นไม้ ชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องของมนุษย์ และธรรมะไม่ใช่แค่เรื่องของพระหรือศาสนาพุทธ
เพียงอย่างเดียว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นคือเรื่องเดียวกัน และเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแท้จริง
“ธรรมชาติไม่ใช่แค่เรื่องของต้นไม้”
จุดเริ่มต้นของการพูดคุยกับป้าจันทร์ เริ่มจากในวันที่เรามีข้อมูลเพียงแค่ป้าจันทร์คือผู้ก่อตั้งสวนศิลป์หนองมน สถานที่ที่สร้างขึ้นจากธรรมชาติ ดำเนินตามธรรมชาติ เพื่อคืนกลับสู่ธรรมชาติ เราจึงตีความตามภาพจำของคำว่า “ธรรมชาติ” ไว้แล้วว่า ธรรมชาติในความหมายของป้าจันทร์คงหมายถึงต้นไม้ สมุนไพร พืชผักต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิต
และเมื่อเราพบป้าจันทร์ตัวจริง ป้าจันทร์คือผู้หญิงใจดี น่ารัก ยิ้มเสมอเวลาที่พูดคุย และมีธรรมชาติอยู่รอบตัวจริง ๆ ทั้งชุดผ้าย้อมครามฝีมือพี่สาว กระเป๋าสานจากธรรมชาติที่ภายในเต็มไปด้วยของใช้และสมุนไพรจากธรรมชาติ แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของคำว่า “ธรรมชาติที่แท้จริง” ของป้าจันทร์ เพราะป้าจันทร์มองธรรมชาติได้ลึกซึ้งกว่านั้น พร้อมตอบความหมายนี้ด้วยคำถามหนึ่งว่า
“ต้นไม้ เราเรียกเขาว่าต้นไม้เองใช่มั้ย เราไปกำหนดเขาเอง เขารู้หรือเปล่าว่าเขาคือต้นไม้ แล้วเราล่ะรู้หรือเปล่าว่าเขาเรียกว่าอะไร”
นี่คือคำถามที่เป็นคำตอบไปโดยปริยาย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตาของเราค่อย ๆ เปิดกว้างขึ้น และมองเห็นคำว่า “ธรรมชาติ” ได้กว้างกว่าคำจำกัดความที่มนุษย์กำหนดขึ้น ธรรมชาติไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่ทุกอย่างบนโลกใบนี้คือธรรมชาติทั้งสิ้น แม้แต่ตัวเราเองที่เป็นมนุษย์ทุกคน
“แต่ชีวิตก็ไม่ใช่แค่เรื่องของมนุษย์”
เมื่อเรามองเห็นว่าธรรมชาติคือทุกสิ่ง แม้แต่ต้นไม้ที่เราสมมติขึ้นยังมีชีวิตเลย ดังนั้นชีวิตจึงไม่ใช่แค่เรื่องของมนุษย์ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกล้วนมีชีวิตเหมือนกัน ภายใต้วัฏจักรเดียวกัน นั่นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
“ป้าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าอยากเห็นธรรมชาติก็ดูป้านี่ เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ดินน้ำลมไฟ เราไม่แตกต่างเลยลูก เราทุกคนเสมอกัน มีชีวิตเหมือนกัน ถ้าเรากลัวสิ่งต่าง ๆ จากธรรมชาติ เราก็ควรกลัวตัวเราเองด้วยเหมือนกัน เรามักจะมองว่าชีวิตของเราสำคัญมาก แต่ที่จริงทุกชีวิต ทุกสรรพสิ่งสำคัญเหมือนกันหมด”
คำพูดนี้ของป้าจันทร์ได้บอกให้เรารู้ว่า แม้มนุษย์จะมองว่าชีวิตของตนเองสำคัญแค่ไหน แต่เราไม่สามารถอยู่ได้โดยการไร้การพึ่งพา เราก็ต่างพึ่งพาชีวิตอื่นเพื่อตัวเราเองทั้งนั้น ดังนั้นถ้าเราคิดจะรักชีวิตของเรา เราก็ต้องรักชีวิตอื่นภายใต้ธรรมชาติเดียวกันด้วย
“ป้าเคยป่วยหนักมากนะ ป้าเป็นมะเร็งไทรอยด์ และมะเร็งเม็ดเลือดขาว จนหมอบอกว่าป้าต้องจำหน่ายแล้ว หรือไม่ก็ต้องอมยาใต้ลิ้นไปตลอดชีวิต แต่ป้ามีวันนี้ได้เพราะกลับมามองตัวเอง และใช้ธรรมชาติรักษา พึ่งพาธรรมชาตินั่นแหละ”
คำว่าพึ่งพาธรรมชาติของป้าจันทร์ ไม่ได้หมายถึงแค่การใช้ยาสมุนไพร หรือทานอาหารจากธรรมชาติเพียงท่านั้น
แต่คือการมองตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเสียก่อน และใช้ชีวิตตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นไปพร้อมกับรักษาสมดุลของธรรมชาติที่เราใช้พึ่งพาไว้ด้วย ดำเนินชีวิตแบบไม่แต่งเติม ไม่สร้างกิเลส ไม่บ่มเพาะความทุกข์จนไม่เป็นตัวเอง เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนส่งผลเสียต่อร่างกาย เก็บกดจนกลายเป็นมะเร็งอารมณ์ นานวันก็กลายเป็นโรคมะเร็งจริง ๆ
“ครั้งหนึ่งในสมัยก่อนป้าเคยมองตัวเองว่าเป็นถังขยะนะ ถังขยะอวกาศ ถังขยะที่ยืดหดขยายได้ใหญ่มาก ถังขยะที่ไม่ค่อยเต็มใจเป็นถังขยะด้วย อึดอัดเวลามีคนเอาอะไรมาใส่ มันจะลีบลงแบบเนี้ย แล้วก็ยังปักใจว่าตัวเองเป็นถังขยะอยู่หลายปี จนกระทั่งเขียนเสื้อเลยนะว่า อะไร ๆ ก็กู แต่พอเวลาผ่านไป เรารู้ละว่ามันเป็นเพราะเรามัวแต่โทษคนอื่นทั้งโลก เราก็เลยเพาะบ่มสะสมความทุกข์ เก็บ ๆๆๆๆ มันไว้ แต่สุดท้ายมันคือความเก็บกด คือมะเร็งอารมณ์ เป็นมะเร็งลำไส้ได้เลยนะ เพราะฉะนั้นจงปล่อยวาง ปล่อยไป ทิ้งขยะอารมณ์ของตัวเองบ้าง แล้วเราทุกคนจะโล่งขึ้น”
การทิ้งขยะอารมณ์ก็คือการปล่อยวาง
และการปล่อยวางก็คือ การเข้าใจธรรมชาติของชีวิตนั่นแหละ
ปล่อยที่ตัวเราได้เอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพระ พึ่งหมอดู หรือพึ่งอะไรเลย เพียงแค่เราเข้าใจตัวเอง เข้าใจการปล่อยวาง เข้าใจธรรมชาติ และเข้าใจธรรมะของการใช้ชีวิต
“เพราะฉะนั้น ธรรมะจึงไม่ใช่เรื่องของพระหรือศาสนา แต่คือเรื่องของเรา”
ระหว่างการสนทนา ป้าจันทร์มักจะแทรกข้อคิดของธรรมะไว้ให้เราเสมอ จนทำให้เรามองเห็นมากขึ้นว่า แท้จริงแล้ว “ธรรมะ กับ ธรรมชาติ” คือเรื่องเดียวกัน เพราะเพียงแค่ความหมายจากรากศัพท์เดิม ก็ยังหมายความเหมือนกันเลย
“ธรรม หรือ ธรรมะ” มีความหมายตามพจนานุกรมว่า สภาพที่ทรงไว้ หรือภาพตามความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ ธรรมะก็สอนเราแบบนั้นเช่นกัน
คำว่า “ธรรม” คือการสอนให้เรามีสติ พิจารณาตัวเอง เข้าใจตัวเอง และทำตามหน้าที่ของตัวเอง ไม่ยึดติดกับเมื่อวาน ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง อย่างที่ป้าจันทร์บอกเราเสมอว่า “มนุษย์เกิดมากายาก็เท่านี้” อยากมีอยากได้แค่ไหน เราก็ตั้งอยู่ ดับไป เท่ากัน
“บางทีเราอ่านหนังสือธรรมะ แต่เรายังทุกข์ นั่นเพราะเราไม่ข้าใจและปฏิบัติอย่างจริง ๆ
ถ้าเราได้แค่อ่าน ไม่เคยลองทำ เราจะไม่เข้าผู้อื่นหรือสิ่งอื่นอย่างแท้จริง
ก็จะพูดตามที่ตัวเองได้เรียนหรือตามตำรา มันไม่มีพลัง”
เมื่อใดก็ตามที่เราได้ลองใช้ชีวิตตามธรรมะ เราจะทิ้งขยะอารมณ์ ขยะหัวใจได้ง่าย
ทุกอย่างจะกลายเป็นธรรมชาติที่ควรจะเป็น เป็นนิเวศน์ชีวิตที่ถูกต้อง
ดังนั้นทั้งสามเรื่องนี้ที่ป้าจันทร์พูด “ธรรมชาติ ชีวิต และธรรมะ” จึงเป็นเรื่องเดียวกัน
เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์
เพราะฉะนั้น “การมีชีวิตตามธรรมชาติ” จึงเป็นการใช้ชีวิตที่ง่ายที่สุด เป็นนิเวศน์ของชีวิตที่ดีที่สุด แต่เป็นการทำตามที่ยากที่สุด เพราะการอยู่อย่างเข้าใจธรรมชาติ และใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ได้มีความสุขรวดเร็วเฉกเช่นการซื้อกิเลส มันเปรียบเสมือนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มันช้า มันนาน แต่ในปลายทางนี่คือ “ความสุขที่ปลอดภัย” ทั้งตัวเราและทั้งโลกใบนี้
ขอให้ “ความสุขที่ปลอดภัย” จงมีแก่เพื่อนบ้านทุกคน
เพื่อนบ้านทุกสิ่ง และเพื่อนบ้านทุกชีวิต
เพราะเราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติเดียวกัน