Neighbors and friends

เพราะเรารู้สึกว่าโลกกำลังป่วยอยู่ เราเลยอยากบอกโลกว่า “หายไวๆนะ”

“เพราะเรารู้สึกว่าโลกกำลังป่วยอยู่ เราเลยอยากบอกโลกว่า “หายไวๆนะ”

เราอยากบอกแบบนั้นจริงๆ เพราะเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือครั้งนี้”

 

“โลกป่วย”! เป็นคำที่กระตุกความคิดเรามาก เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกทุกวัน

แต่ไม่เคยรู้สึกเลยว่า โลกเรากำลังป่วย โลกเราไม่ได้ตัวร้อนหรือมีไข้

แต่โลกเรามี “ขยะ” ที่เกิดจากมนุษย์และมันกำลังส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในโลกป่วยลงเรื่อยๆ

 

คนที่ให้ความคิดเราในเรื่องนี้ไม่ใช่นักปรัชญาที่ไหน
แต่เป็น “คุณหยุยและคุณตูน” สองสาวเจ้าของร้านสายกรีน 
“Get Well Zone” ร้านเล็กๆในซอยเอกมัย 24
วันนี้เราเดินทางมาพบเธอสองคนในบรรยากาศร้านสีเขียวสบายตา 
แต่เต็มอิ่มไปด้วยแรงผลักดันภายในใจที่ทั้งสองคนมีเหมือนกันคือ
“อยากช่วยให้โลกหายป่วย”
“ร้าน Get Well Zone ของเรามามาจากคำว่า Get Well Soon 
เวลาที่เพื่อนป่วย เรามักจะพูดประโยคนี้
แต่ตอนนี้โลกเราป่วยหนักมาก เราจึงอยากบอกคำนี้เช่นกัน 
เราอยากให้โซนที่เราอยู่นี้เป็นโซนที่ดีขึ้น
มันอาจจะเป็นพื้นที่เล็กๆ 
แต่ถ้าในอนาคตพื้นที่เล็กๆเหล่านี้มีขึ้นมากขึ้น
มันก็จะช่วยได้”

ร้าน “Get Well Zone” นี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณหยุย ผู้เคยทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ 

แต่ใช้ชีวิตด้วยการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว ทั้งการพกถุงผ้า กล่องข้าว ขวดน้ำ ไม่รับถุงพลาสติกเป็นกิจวัตร 

และยังส่งต่อความคิดเหล่านี้ไปยังน้องในออฟฟิศให้ได้ลองทำตาม จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้รักโลกขนาดย่อมขึ้นมา

ประกอบกับคุณตูน แม่บ้านผู้ซึ่งมีประสบการณ์เดินทางต่างประเทศบ่อย จนซึมซับเอาแนวคิดร้านเพื่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศมามาก

และยังมีกิจวัตรที่ทำสม่ำเสมอคือการแยกขยะภายในบ้าน จนสามารถเปลี่ยนใจสามีผู้ที่เปลี่ยนยากที่สุดให้มาสนใจสิ่งแวดล้อม 

และดำเนินชีวิตเป็นแบบอย่างด้านนี้ให้ลูกๆได้เป็นอย่างดี

เมื่อทั้งสองคน ผู้ที่มีแนวคิดชัดเจนในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเจอกัน 

ร้านแห่งนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Less Waste Living” ชีวิตที่ลดขยะให้เหลือน้อยที่สุด

“ก่อนหน้านี้มันมีเทรนด์ Zero Waste กับ Less Waste แต่เราเองมาคุยกันว่าเราไม่น่าจะเป็น Zero Waste ได้

เพราะคนที่จะเป็น Zero Waste หรือทำขยะเป็นศูนย์ได้ จะมีความกดดันในการใช้ชีวิตค่อนข้างมาก

เราจึงเป็น Less Waste ดีกว่า คือทำให้เราเกิดขยะให้ได้น้อยที่สุด

เราจะไม่มี Single Use หรือของที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในร้านเลย เราอยากให้ทุกผลิตภัณฑ์สามารถนำมาใช้หมุนเวียนได้

เรารู้สึกว่าชีวิต Less Waste สามารถเกิดขึ้นจริงได้ ลูกค้าก็สามารถเข้าใจได้และไม่กดดันเค้ามากไป เพียงแค่อยากให้ลองเปิดใจ”

ภายในร้าน “Get Well Zone” จะเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่นำกับมาใช้ใหม่ได้ 

ทั้งกล่องข้าว ขวดน้ำ พร้อมด้วยสินค้าธรรมชาติที่ไม่มีสารเคมี 

พร้อมกิมมิกที่น่ารักให้ลูกค้าสามารถนำขวดเปล่าที่ใช้แล้วมาเติมน้ำยาที่ร้านได้ 

หรือเลือกขวดได้ฟรีจากที่ร้านเพื่อเติมน้ำยาต่างๆไปก็ได้ 

ซึ่งก็มีทั้งสบู่ แชมพู ยาสระผม น้ำยาซักผ้า ทั้งของเด็ก ผู้ใหญ่ รวมถึงส์ตว์เลี้ยงในแบบที่เรียกว่า จุดรีฟีล

“การรีฟีลเหล่านี้ อาจไม่ใช่ไอเดียใหม่ แต่เป็นไอเดียที่อยากช่วยโลกจริงๆ

เช่น ขวดแชมพูต่างๆ ที่เราทุกคนใช้แล้วก็ทิ้งไป มันคือขยะที่ไม่ย่อยสลาย

และแม้บางคนจะแยกขยะอย่างถูกวิธีแล้ว แต่จะถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกวิธีหรือเปล่าเราไม่รู้

ดังนั้นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุดก็คือ การพยายามทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุด”

แม้การใช้ชีวิตลักษณะนี้อาจดูเหมือนง่ายแบบ Slow Life

แต่จริงๆแล้วมันคือ “การลดความสะดวกสบาย” ให้ตัวเอง

ลดความเคยชินจากรูปรสกลิ่น กลับเข้าสู่ธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

และการจะมาอยู่ตรงนี้ได้จำเป็นต้องรู้จักและเรียนรู้มันจริงๆอย่างมีวินัย

เพราะลูกค้าทุกคนมาในร้าน คุณหยุยบอกเราว่า

โดยเฉลี่ยแล้วลูกค้าคนหนึ่งใช้เวลาเพื่อจัดการสินค้าหลายสิบนาที

เพราะต้องเลือกขวด ชั่งน้ำหนักขวด เขียนน้ำหนักที่ได้ลงไป 

ก่อนที่จะไปปั๊มน้ำยา และเอามาชั่ง

และเขียนน้ำหนักอีกที ก่อนจะไปคิดเงิน เรารู้ว่ามันยุ่งยาก 

แต่ขั้นตอนเหล่านี้มันทำให้เราได้คิด ได้ตระหนัก และได้ภูมิใจในสิ่งที่ทำจริงๆ

ทั้งคุณหยุยและคุณตูนเองก็ไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นเจ้าของร้านที่

รอคิดเงินอย่างเดียว 

แต่จะเป็นเหมือนวิทยากร ชวนลูกค้าคุยและให้ประสบการณ์

เรื่องสิ่งแวดล้อมกับลูกค้าทุกคน 

โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงแค่อยากให้ลูกค้า “เปิดใจ”

และที่สำคัญคุณหยุยบอกกับเราว่า ถ้าหากมีร้านแบบนี้เยอะขึ้น 

เธอจะไม่มองร้านเหล่านี้เป็นคู่แข่ง แต่คือเพื่อนบ้านในสังคมเล็กๆ

ที่จะช่วยกันพัฒนาให้มันเติบโตขึ้น 

โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นแหละมันคือสิ่งที่ดีที่สุด”

ถ้าหากร้านนี้เป็นเหมือนจุดเล็กหนึ่งจุด ร้านอื่นที่เป็นแบบนี้ก็คงเป็นจุดต่อไป

และเราทุกคนก็ควรทำ

หน้าที่ให้จุดเหล่านี้เชื่อมต่อกันเป็นเส้นให้ได้

เพื่อนำไปสู่ทางของการเยียวยาโลกให้ดีขึ้น

เพราะเราทุกคนก็คือ “สิ่งมีชีวิตในโลกนี้เหมือนกัน”