Neighbors and friends

“ดนตรีนั้นคือชีวิต จังหวะคอยลิขิตให้ชีวิตก้าวไป”

“ดนตรีนั้นคือชีวิต จังหวะคอยลิขิตให้ชีวิตก้าวไป”

ประโยคนี้คือหนึ่งในเนื้อเพลงที่หลายคนคงร้องตามได้ แต่ทว่าเราไม่ได้ใช้ประโยคนี้เพื่อร้อง แต่เราขอยืมท่อนนึงของเนื้อเพลงนี้มานิยามวงดนตรีหนึ่งวง ที่ทำให้เรารู้สึกว่า “จังหวะของดนตรี ได้นำพาให้จังหวะของชีวิตพวกเขามาเจอกัน”

วงดนตรี BENNETTY รุ่นที่ 2 คือวงดนตรีที่ทำให้หนึ่งวันของเราที่สัมผัสกับพวกเขาเต็มไปด้วยความอิ่มเอมใจ
วงดนตรีนี้ประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ที่ต่างที่มา ต่างประสบการณ์ ต่างช่วงเวลา แต่พวกเขามีแกนดึงดูดเดียวกัน นั่นคือ “ดนตรี”

“เพราะดนตรี คือ ชีวิต”
และเหตุผลที่ดนตรีคือชีวิตของคนเรา มันอาจเป็นได้ทั้งความหลงใหล ความผูกพัน หรือแม้แต่ความฝันจากพรสวรรค์ที่แค่รอวันปลดปล่อยออกมา

เพราะดนตรีคือชีวิตด้วย “ความหลงใหล”

เรื่องความหลงใหลในดนตรี เราขอเริ่มจากสมาชิกคนแรกของวง

“อาเบิ้ม เทิดพล ใคร้วานิช วัย 67 ปี  มือคีย์บอร์ด” 

ผู้ที่มองว่าดนตรีคือความปรารถนาในชีวิต อาเบิ้มเริ่มเล่นดนตรีครั้งแรกจากกีตาร์ในสมัยเรียน จนมาเป็นเบส และผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์ในปัจจุบัน โดยอาเบิ้มบอกเราว่า เมื่อเล่นเป็นครั้งแรกนี่คือสิ่งที่เขาหลงมาก จนมาวันนี้ก็ยังรู้สึกแบบนั้นและไม่มีวันหายไปจากชีวิตได้เลย“ครั้งแรกที่เล่นเป็นเพลงเราจะหลงมาก ตอนนอนกีตาร์อยู่บนหน้าอก เล่นจนการเรียนตก แต่เรารู้สึกว่าเรายังรักมันมาก เราเลยสู้ต่อ มาเล่นวงจนเลิกเล่นไป และพออายุเยอะขึ้นเราก็ยังผูกพันอยู่ แม้วงจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ดนตรีมันคือในใจ มันตัดไม่ได้ เราจึงเป็นโปรดิวเซอร์ให้น้องๆในวงการเพลงหลายคน”

เช่นเดียวกับ

อาต่อ ไตรภพ สวันตรัจฉ์ วัย 72 ปี มือกีตาร์โซโล่”

ที่หลงใหลเสน่ห์ของดนตรีมาตั้งแต่ยังเด็ก แม้คุณแม่จะอยากให้เรียน แต่ความชอบดนตรีในจิตใจมันมีมากกว่า อาต่อจึงขอให้คุณแม่ซื้อกีตาร์ให้และหิ้วไปเล่นที่แคมป์จังหวัดมุกดาหาร และนั่นเป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกว่าดนตรีกับตัวเขาเป็นสิ่งเดียวกัน“ผมนี่เรียนน้อย แม่อยากให้ผมเรียนมากกว่า แต่ผมก็ชอบดนตรี พอแม่ซื้อกีตาร์ให้ผมก็หิ้วไปเล่นที่แคมป์ทหารอเมริกา มุกดาหาร นั่นเป็นครั้งแรกเลย และก็ลุยมาเรื่อยๆ ขรุขระเหมือนกันนะ กว่าจะมีวงที่รู้จักและได้เล่น มันต้องสู้อ่ะ แต่ผมทำหมด ทำวง ทำมิกซ์เซอร์ รับงานเพลง โฆษณา จนวิกฤตต้มยำกุ้งเราไปขายปุ๋ย แต่มันไม่สำเร็จเพราะไม่ได้ชอบ เราเลยกลับมาอยู่กับดนตรี เหมือนเริ่มชีวิตใหม่ นี่คือชีวิตเรา เราเล่นทุกวันเลย”

และในขณะเดียวกันกับสมาชิกคนอื่นในวง ดนตรีคือชีวิตด้วย “ความผูกพัน”

“อาเปี๊ยก กิตติพงศ์ โชชัย วัย 73 ปี มือกลอง”

ที่ในอยุธยาจะเรียกอาจารย์เปี๊ยก เพราะปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนดนตรีให้นักเรียนอยู่ แม้อาเปี๊ยกจะตัวเล็ก แต่ความฝันและความพยายามกลับยิ่งใหญ่มากจนทำให้ดนตรีกับอาเปี๊ยกคือความสัมพันธ์ของความผูกพันที่ไม่รู้จบ

 

อาเปี๊ยกเริ่มการตีกลองตั้งแต่งานวัด ค่าจ้างสามสิบบาท ไปจนตีกลองในคณะลิเก ตีกลองใช้หนี้ จนมาวันนี้จากค่าจ้างสามสิบบาทมันมากขึ้นกว่าหลายร้อยเท่า แต่ค่าวัดของเงินมันเทียบไม่ได้กับคุณค่าทางจิตใจ ที่ทุกครั้งในจังหวะกลองที่อาเปี๊ยกตีไปคือความสุขในทุกวินาทีของจังหวะนั้น“เราได้เจอวิทย์เมืองแมน เค้าให้เราไปเข็นน้ำแข็ง แล้วมีงานรำวงเราเห็นเค้าตีกลอง เรารู้สึกว่าชอบและสงสัยว่ามันตียังไง ก็ครูพักลักจำมาเรื่อยๆ ไปช่วยเค้าตีได้ค่าจ้างมาสามสิบบาท จนไปตีที่คณะลิเกบ้าง ไปรับจ้างถางป่าบ้าง จนถึงตีกลองใช้หนี้ ก็ทำมาหมด จนวันนึงไปอยู่กับคณะครูสำเนียงม่วงทองดาวกระจาย เราก็ไปตีกลองให้เขา จนเรากลับมากรุงเทพ มาเจอเพื่อนๆ ก็เปลี่ยนแนวเพลงมาสากล ก็วนไปเรื่อยๆแหละ จนตอนนี้มันก็เรียกว่าชีวิตได้แล้ว มันอยู่กับเพลงมาตลอด”

แต่สำหรับบางคนดนตรีอาจไม่ใช่อาชีพ แต่ดนตรีคือชีวิตด้วย “ความฝันจากพรสวรรค์ที่แค่รอวันปลดปล่อยออกมา”
ด้วยความจำเป็นหลายอย่างของชีวิต ที่เราหลายคนมักจะต้องพับความฝันของตัวเองเก็บไว้ เพื่อประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ได้ตรงตามความฝันของตนเอง แต่ลึกๆแล้วเราทุกคนก็ไม่สามารถละทิ้งความฝันนั้นได้อย่างสมบูรณ์ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้หายไปไหน มันคือ “ตัวตน” เช่นเดียวกับสมาชิกอีกสองคนของวง

“อาตุ้ม ธนาธิป รัตนัย วัย 66 ปี  มือเบส”

น้องเล็กสุดของวง ที่จบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาตุ้มเคยชอบดนตรีและมีพรสวรรค์ในการเล่นเครื่องสาย แต่ก็ต้องพับความชอบนั้นไว้สามสิบปีเพื่อทำงานออกแบบ แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้หายไปไหน และมันได้กลับมาอีกครั้งในวัยใกล้เจ็ดสิบปี“ตอนเด็กเราอยากเล่นกีตาร์ เรามีไอดอลนะ เป็นพวกวงบีทเทิล โจลิ่งสโตน เด็กๆเราชอบดนตรี เอาจริงก็คืออยากจีบสาวเป็นเด็กศิลป์มันต้องเท่ ก็เล่นกีตาร์ไป จำไปงูๆปลาๆ จนเราเรียนจบมัณฑนศิลป์ เราก็ไม่ได้เล่นอีกเลย สามสิบปีแล้วที่ไม่ได้จับ แต่มันไม่ได้หายไปไหนนะ เราฟังเพลงมาตลอด เราชอบแต่แค่เราไม่ได้เล่น จนเรารู้จักเว็บสยามเบส มีเด็กเล่นเบสเป็นพันคน เราอยากกลับมาเล่นเลยลอง เอาจริงๆมันมันไม่มีง่ายหรือยากหรอกนะ มันจะกี่สายก็แล้วแต่ หลักการก็เหมือนกันหมด เล่นให้เป็นจังหวะ ไม่มีใครสอนเราได้นอกจากเราไม่หยุดเรียนรู้ เราใช้ชื่อในเว็บว่า “ลุงเบส” ก็เล่นมาหกเจ็ดปีแล้ว จนตอนนี้มีคนดูล้านวิว มันคือความสุขอีกแบบ จนมาวันนี้เราได้มาทำวงเบนเน็ตตี้ ก็กล้าพูดได้เลยว่านี่คือความภาคภูมิใจก่อนตาย”

หรือแม้แต่นักร้องนำคนสำคัญที่สุดของวงอย่าง

อากุ่ย ทิพาพร บุญเจริญ วัย 82 ปี

ที่มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงเสียงสูง ในสมัยเด็กอากุ่ยมักได้ร้องนำเพลงชาติที่โรงเรียน และร้องเรื่อยมาในงานสังสรรค์ จนปัจจุบันแม้จะไม่ได้ทำเป็นอาชีพแต่ก็ยังชอบไปร้องตามคาราโอเกะ เพราะทุกครั้งที่ร้องมันคือความสุขทั้งตัวเองและคนรอบข้าง“ก่อนที่จะมาเข้าในวงนี้ เดิมทำงานอยู่ ธนาคารนครหลวงไทย เราชอบเพลงจีนมาตลอด ร้องตามวงดุริยางค์บ้างในสมัยเด็กๆ พอทำงานก็ร้องบ้างตามงานเลี้ยงที่ทำงาน จนเกษียณมาเราก็ยังชอบร้องอยู่จนลูกมีเงินเดือน เขาก็เลยให้เงินเราไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน ก็สนุกดี และพอมาร้องเป็นวงแบบนี้ มันคือความสุขของคงวามฝันที่เราไม่คิดเลยว่าจะได้ทำ มันดีมากๆ”

และในตอนนี้ดนตรีแห่งชีวิตของทุกคน แม้จะต่างเหตุผล แต่ถูกดึงดูดด้วยจังหวะเดียวกัน นั่นคือจังหวะของความรักในสิ่งที่ตนเองเป็นมันเป็นสิ่งที่ยากมากที่เราทุกคนบนโลกใบนี้จะมีความรักในสิ่งที่ตนเองชอบจนกลายเป็นความฝัน และไม่ทิ้งความฝันนั้นให้หายไป และยังสามารถประคองให้ความฝันยังอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เติมเต็มความสุขในทุกวัน เช่นเดียวกับสมาชิกทุกคนในวง Bennetty ที่วันนี้เราอาจจะไม่ได้พูดคุยกับอาป๊อด เนื่องจากคุณอาไม่สบาย แต่เราเชื่อว่าทุกคนในวงนี้ทำให้เรามีกำลังใจกับคำว่า “ความฝัน” อีกครั้งเพราะบนโลกใบนี้เราเชื่อว่า ความเคารพที่สวยงามที่สุด คือเคารพความฝันของตัวเอง และสร้างมันด้วยจังหวะอย่างต่อเนื่องด้วยความสามารถและความตั้งใจ วันหนึ่งเราจะพบว่าความสำเร็จอาจไม่ใช่ชื่อเสียงเงินทอง แต่คือความสุขของคำว่า “ได้ทำ” เหมือนท่อนหนึ่งของเพลงนี้ที่บอกไว้ว่า“ ปล่อยใจฉัน ออกไปตามฝัน อยากปะทะดวงตะวัน มันจะร้อนแรงสักเท่าไหร่ … และฉันอยากสัมผัส แม้รู้ว่ามันอาจไม่สดใส ก่อนฉันจะเหลือเพียงแค่วันที่อาจจะหายไป”

Facebook
Twitter
LinkedIn
The Neighbors

The Neighbors

Click edit button to change this text. Lorem ipsum dolor sit amet consectetur adipiscing elit dolor

TAGS

Music Style