Neighbors and friends

" รากต้นไม้มีความสวยในรูปแบบที่เป็น "

หากใส่แว่นตาของธรรมชาติในการมอง
เราก็จะเห็นอะไรที่เป็นธรรมะมากขึ้น
คุณกร สิริกร ลิ้มสุวรรณ 
ผู้ก่อตั้ง วิสาหกิจเพื่อสังคม บ้านรักษ์ดิน

ในวันที่ต้นไม้มีประโยชน์ต่อมนุษย์ด้วยการคลายออกซิเจนให้ทุกวัน แล้วเราหล่ะ? ทำอะไรเพื่อธรรมชาติบ้าง เมื่อธรรมชาติมีแต่ให้ จึงขอเล่าเรื่องราวใหม่ เพื่อคืนสิ่งที่ดีกลับให้ธรรมชาติเป็นการตอบแทน บทสนทนาที่เต็มไปด้วยความสงบและความเข้าใจในธรรมชาติที่เป็นเหมือนการตกตะกอนชีวิต

ในวันที่เราได้มาพูดคุยกับ “คุณกร สิริกร ลิ้มสุวรรณ” ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม บ้านรักษ์ดิน ท่ามกลางเสียงของธรรมชาติ ใต้ร่มไม้และแสงแดดอ่อน ๆ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ชีวิตเรียบง่ายได้ ไม่ต้องรีบร้อน บางสิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้อาจเปลี่ยนชีวิตให้พบอีกมุมที่มีค่าได้เพียงแค่เปิดใจ

#จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้สู่บ้านรักษ์ดิน

ชีวิตที่เดินตามรอยภาพจำ เลือกเรียนกฏหมายตามคุณแม่ ด้วยเสียงค้านภายในใจที่พูดกับตัวเองเสมอว่า ไม่ใช่สิ่งที่ชอบและไม่ได้ต้องการทำในสายอาชีพนี้จนทำให้สมบัติจากคุณยาย ที่ดิน 1 ไร่ กลายเป็นสมบัติที่มีค่าด้วยความทรงจำและเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์

“การเลี้ยงไส้เดือนเป็นสิ่งแรกที่ได้สัมผัสกับการเกษตรแบบจริงจังซึ่งศึกษาด้วยตัวเอง ในยุคนั้นใครอยากทําเกษตรอินทรีย์ ต้องเริ่มจากไส้เดือนเป็นส่วนใหญ่ เพราะการเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ต้องทําดินดี แต่ปัญหาส่วนใหญ่ คือ ดินไม่ดี การเลี้ยงไส้เดือนนำมูลมาปรุงดินตอบโจทย์เรื่องนี้ ช่วงปี 3 – ปี 4 ในการเรียนมหาวิทยาลัยรังสิต ใช้เวลาไปเรียนรู้ตามศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ ทําให้เราเกิดความคิดว่า การทําเกษตรไม่ใช่การปลูกผักอย่างเดียว แต่ทำให้เราค้นหาได้ว่าคนหนึ่งคนสร้างบ้านก็ได้ คนหนึ่งคนปลูกข้าวเลี้ยงครอบครัวก็ได้ ตอนนั้นก็เลยรู้สึกว่าการทําเกษตรอินทรีย์ มันเปิดโลกเรา ทําให้เรารู้สึกว่าศักยภาพความเป็นมนุษย์มีมากกว่านั้น และมุ่งมั่นกับเรื่องเกษตรมาตลอด ทุกอย่าง คือ การเรียนรู้ที่ในห้องเรียน ไม่เคยสอนเราเรื่องนี้เลย สำหรับเรื่องการใช้ชีวิต”

ความทุ่มเท มุ่งมั่น ตั้งใจ และจริงใจ จึงเป็นที่มาของการสร้าง “บ้านรักษ์ดิน” โดยมีปุ๋ยมูลไส้เดือนเป็นผลิตภัณฑ์แรก เพราะเริ่มจากสิ่งแรกที่ได้ทดลองจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองสู่บ้านหลังใหม่ที่สร้างด้วยมือตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่า “ศักยภาพของมนุษย์อย่างเรามันมีได้มากแค่ไหนกัน”

#เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนความคิดใครได้ เลือกอยู่กับคนที่ “เชื่อ” ในสิ่งเดียวกัน

ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นพลังอยากส่งต่อให้ผู้อื่นได้สัมผัสผลดีด้วยกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้สารเคมี ผ่านแปลงผักคะน้าเป็นสิ่งเดิมพัน แต่ในท้ายที่สุดก็รู้ว่า ทุกคนมีทางของตัวเอง ทางธรรมชาติของพวกเขาเอง ไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนใคร แต่ถ้าต้องการทางธรรมชาติในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ให้มาหาเรา มาบ้านรักษ์ดินแห่งนี้

“ตอนนั้นคนยังไม่รู้จักว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร เลยเอามูลไส้เดือนไปขอทดลองกับแปลงคะน้าใกล้บ้าน ผ่านไป 1 สัปดาห์ ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าของแปลงผัก กลายเป็นไม่มีอะไรงอกเงยขึ้นมาเลย ต้นที่พอจะไปรอดก็ไม่มีใบ เพราะแปลงที่ห่างกันเพียง 2 ก้าว ใช้สารเคมีทุก 7 วัน เราก็เลยเห็นแล้วว่าจากความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเขา ได้สติกลับมาคิดใหม่ว่า เราไม่เปลี่ยนใครแล้ว ใครอยากทําเคมีทําไปเลย ใครอยากทําเกษตรอินทรีย์แล้วอยากหาเพื่อน มาหาบ้านรักษ์ดินได้ เราจะไม่ออกไปเปลี่ยนใครอีก ให้บ้านรักษ์ดินเป็นบ้านของคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกัน”
#จากแปลงผักสู่แปลงข้าวและน้ำตาของแม่
ชีวิตเพื่อเกษตรอินทรีย์ของคุณกร เดินทางต่อไปด้วยการปลูกข้าวจากที่ดิน สมบัติที่คุณยายมอบไว้ให้ และได้เช่าชาวบ้านเพิ่ม 3 ไร่ นาข้าว 4 ไร่จากหยาดเหงื่อ ความเหนื่อย ล้วนเป็นสิ่งสะท้อนให้รู้ซึ้งถึงความรู้สึกของเกษตรกร การพิสูจน์สิ่งใดให้เห็นผลต้องใช้เวลา เหมือนการรอคอยวันเก็บเกี่ยวข้าว 4 ไร่ของคุณกร ที่เฝ้ารอวันเก็บเกี่ยวราว 4 เดือน โดยไม่สนใจคำชักชวนของเจ้าของโรงสี

“คนต้องกินข้าว ก็เลยลองทํานา เป็นนาดํา ปลูกข้าวหอมมะลิ ทำทั้งวันเลย เหนื่อยมาก ร้อนมาก แล้วก็รู้สึกว่าถ้าเราไม่เคยทําเอง เราไม่รู้เลยว่าเกษตรกรกว่าเขาจะปลูกข้าวได้เหนื่อยขนาดไหน เราดำนาตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ทุกอย่างเสร็จในวันเดียว เราปลูกแบบธรรมชาติ คือ ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ตัวเองก็ไม่ได้ใช้ รอดูว่ามันจะได้สักเท่าไหร่ มีโรงสีขับรถมาถามว่าข้าวตรงนี้ขายไหม ผมก็บอกผมไม่ขาย เราคิดว่าต้องมองนอกกรอบได้แล้วว่าปลูกข้าวบางทีนำไปทำอย่างอื่นได้ ข้าวในแปลงจะเอามาบดเป็นผงพอกหน้า ไปทำแชมพู เซรั่ม ก็ได้ราคาเพิ่มขึ้น”

เพราะชีวิตไม่ได้ง่าย ต้องฝ่ามรสุมหลายลูกเพื่อยืดหยัดด้วยความคิดที่แน่วแน่ ลมมรสุมที่ต้องสู้ระหว่างทางต้องเห็นน้ำตาของคุณแม่ที่ยืนมองลูกชายดำนาเพื่อเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ด้วยความคิดของตัวเอง
“จริงๆ ผมไม่ค่อยท้อ เพราะว่าตอนที่หลาย ๆ คนบอกว่าน่าจะท้อ คือ ตอนที่ทํานาอยู่แล้วมองขึ้นมาบนคันนาเห็นคุณแม่ร้องไห้ เป็นใครใครก็น่าจะท้อนะครับ แต่ตอนนั้นผมรู้สึกว่าก็เสียใจ แต่ว่าจุดที่เรามองกับจุดที่คุณแม่มองคนละจุดกัน คุณแม่อยากให้มีรายได้จากการทํางานประจํา เราอยากมีรายได้จากการทําเกษตรอินทรีย์ จุดร่วมมันมี เพียงแต่ว่าเราต้องจูนกันให้ได้ มันคือการสร้าง mindset ร่วมกัน แล้วก็เดินทางไปด้วยกัน เพราะวันนั้นถ้าเกิดว่าผมมองขึ้นมาแล้วผมตัดสินใจเลิกก็ไม่มีวันนี้นะครับ วันที่ผมสร้างงานให้ชุมชนได้ วันที่หลาย ๆ คนได้ผลผลิตจากการที่ผมได้เริ่มในวันนั้น เลยรู้สึกว่าตอนนั้นไม่ได้ท้อ มันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทําให้เดินต่อ”
#เกษตรอินทรีย์เชื่อมสังคมที่ดีให้ได้รู้จักกัน
คำที่ได้ยินกันมาเสมอว่า เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ห้วงเวลาของการรอคอยที่จะเห็นเส้นชัย คงเปรียบได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องผ่านความยากลำบาก จากวันที่เดินเพียงลำพัง แบกความกดดันหลายทาง เพราะอยากเห็นสังคมดีขึ้น และการเดินทางท่ามกลางธรรมชาติอย่างมุ่งมั่น ทำให้คุณกรได้เห็นปลายทางแห่งความสุขและพบกับ “เพื่อน” ที่มีมุมมองแบบเดียวกัน

“ผมรู้ตัวว่าเป็นคนชอบทํากิจกรรม ชอบทํางานเชิงสังคม พอมาทําเกษตรอินทรีย์ มันเหมือนกับว่าเราอยากเห็นสังคมมันดี การทําเกษตรเป็นยานพาหนะ ขับพาเราไป ทําให้สังคมมันดี เมื่อก่อนมองภาพใหญ่มากอยากให้กาญจนบุรีเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% แต่พอทําไปแล้วรู้สึกว่า โอ้โห! โจทย์มันใหญ่ ใหญ่เกินตัว เลยลดสเกลลงมาทําทีละเรื่อง พอเราทําไปได้สักพักหนึ่งในกาญจนบุรี เราก็เริ่มมีเพื่อนร่วมทางมากขึ้น มีกลุ่มที่รู้สึกว่าแพ้เมืองเพราะเขาบอกว่าเขาแพ้จากเมืองกรุงแล้วอยากกลับบ้าน บางคนอยากทําธุรกิจเกษตรอินทรีย์บ้าง แต่ผมก็บอกว่าถ้าอยากกลับบ้าน แล้วหาเงินจากการทําเกษตรมันอาจจะให้ไม่ได้นะ แต่ถ้าเกิดว่าอยากกลับไปลองใช้ชีวิตที่มันขนานกับธรรมชาติดู อยากได้ความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้นอาจจะได้ก็ได้ มันอาจจะไม่ตอบโจทย์บางคน แต่มันตอบโจทย์แบบนี้ รู้สึกว่าอบอุ่นขึ้นที่มีคนสนใจในสิ่งเดียวกัน มีเพื่อน มีคนที่มีความฝันเหมือน ๆ กัน ที่เมืองกาญจน์ตอนนี้เราก็มีเครือข่ายที่สนใจเรื่องนี้มากขึ้น บางส่วนอาจจะมองว่าก็ดีที่บ้านรักษ์ดินมารับซื้อสินค้า บ้านรักษ์ดินมาช่วยเรื่องการตลาด เรื่องการแปรรูป แต่บางคนเขาก็มองไกลมากกว่านั้นว่าอยากจะเดินคู่กันไปเรื่อย ๆ”
เกษตรอินทรีย์ที่คุณกรหวังเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ขณะเดียวกันธรรมชาติได้สอนชีวิตให้สัมผัสมุมมองใหม่ “เกษตรอินทรีย์ ให้ความเป็นมนุษย์ธรรมดา เกิดได้ เจ็บได้ ตายได้ มนุษย์ ก็เหมือนต้นไม้ พอทําเกษตรอินทรีย์แล้ว รู้สึกว่าทุกอย่างมันก็เหมือนใบไม้ พองอกงามได้กําไรสูงสุด สุดท้ายมันก็ร่วง เหมือนกับว่าเกษตรอินทรีย์ทําให้เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เราใส่แว่นตาเพื่อให้เรามองเห็น แต่ถ้าเราใส่แว่นตาของความเป็นธรรมชาติ เราจะเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง ผมมองว่าทุกอย่างมันต้องคืนกลับ รับอะไรมาต้องคืนกลับไป ต้นไม้คลายออกซิเจนให้เราทุกวัน เป็นจุดเล็ก ๆ ที่ทําให้คิดว่าในทุกวันเราทําประโยชน์อะไรได้บ้าง ธรรมชาติไม่เคยร้องเรียกอะไรเลย ทำให้เวลาคิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจะคิดถึงสิ่งแวดล้อมก่อนเพราะธรรมชาติมีแต่ให้ เราก็ตอบแทนด้วยการนำธรรมชาติมาบอกเล่าเรื่องราวใหม่ ด้วยวิธีการต่าง ๆ พอเราได้อยู่ใต้ต้นไม้ เราก็ได้เห็นว่า ทุกอย่างมีวัฏจักรของมัน ไม่มีใครไปบอกว่าต้นไม้จะต้องเป็นรูปทรงนี้เท่านั้นถึงจะสวย บางครั้งต้นไม้ที่เราเห็น รากมันก็สวยของมันในรูปแบบหนึ่ง

ถ้าเกิดว่าเราใส่แว่นตาของธรรมชาติมองเราก็จะเห็นอะไรที่มันเป็นธรรมะมากขึ้น ธรรมชาติมันก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือธรรมชาติเหมือนกัน”
“นิยามความสุขผมในตอนนี้ ผมรู้สึกสงบ สงบมันอาจจะสุขหรือไม่สุข เวลาทําเรื่องเกษตรเหมือนกับว่าผมได้นั่งใต้ต้นไม้ แล้วมันสงบ คือ ในหัวไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่เครียด ไม่สุข วางเฉยได้  รู้สึกว่าการทําธุรกิจที่เอาธรรมชาติหรือธรรมะนํา กับความสงบในทางศาสนา ไม่ใช่เส้นขนานกัน แต่เกือบจะมาชนเป็นเส้นเดียวกัน เราไม่ได้มุ่งเอากําไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง ก็คือทางสายกลาง ธรรมชาติเป็นทั้งการสร้างความสุขและสร้างสมดุลให้กับชีวิต ทําให้รู้สึกว่า เจอจุดเบรก จุดที่ไม่ทําให้ชีวิตหนักเกิน รู้จักกันแบ่งปัน พอมาใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ได้รู้ว่าไม่ใช่ทุกคนมาทําแบบนี้แล้วจะได้เท่ากัน มากกว่า หรือน้อยกว่าผม แล้วแต่ศักยภาพคนด้วยเพราะว่าธรรมชาติเขาจัดมาให้แบบนั้น ถ้าหากค้นหาตัวเองได้เร็ว ผมว่าก็เปลี่ยนอะไรได้เร็ว”
#การเดินทางที่มีความหมายจากธรรมชาติ

ตลอดการสนทนากับคุณกรที่เล่าเรื่องราวชีวิตที่สัมผัสธรรมชาติได้อย่างมีความสุข และสงบเหมือนเช่นที่คุณกรให้นิยามความสุขกับตัวเอง ก่อนจากกันคุณกรส่งต่อพลังบวกถึงเพื่อนบ้าน เส้นทางชีวิตกับธรรมชาติเส้นนี้มีเพื่อนร่วมทางมากมายที่เป็นแรงบันดาลใจจนเดินมาถึงวันนี้ และเดินต่อไปเพื่อส่งต่อเรื่องราวในอีกมุมหนึ่ง

“น่าจะไม่ใช่ผมคนเดียวที่เป็นคนสร้างแรงบันดาลใจ เพราะว่าผมก็ไปเรียนรู้จากครู อาจารย์หลาย ๆ คน แล้วก็พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ทําเกษตรมาก่อนผม ถ้าผมเป็นแสงก็มีหลายแสงที่ช่วย ๆ กัน แต่ก็ดีใจที่หลายหลายคนบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจ ผมไม่อยากให้เป็นแรงบันดาลใจที่สว่างวาบแล้วก็วูบไป อยากให้ลองทําอะไรง่าย ๆ ดู ลองปลูกผักง่าย ๆ ก็ได้ เมื่อปลูกได้แล้วก็จะอยากปลูกผักอะไรที่มันยาก เป็นความท้าทายตัวเอง ต้นไม้ใหญ่ไม่ได้ใหญ่ขึ้นมาเลย ใหญ่เพราะว่ามีความหลากหลาย ถ้าไม่มีต้นไม้ต้นแรก โลกนี้ไม่มีต้นไม้เลย ดังนั้นต้นไม้ต้นแรกปลูกยากที่สุด แต่หลังจากนั้นจะขึ้นต้นอื่นมาเรื่อย ๆ ผมอยากบอกว่า มันไม่มีสูตรสําเร็จ  วันนี้อ่านบทความแล้วกลับไปทําอะไรสักอย่างหนึ่ง มันอาจจะนําพาไปสู่อะไรบางอย่างที่มันยิ่งใหญ่สําหรับอนาคตก็ได้ ลงมือทําวันนี้เลย ไม่ว่าจะทําอะไรทั้งนั้น ลองเรียนรู้กับตัวเอง ถ้าวันนึงที่เราได้เห็นว่า เรามีศักยภาพมากกว่าหนึ่งอย่าง มันเป็นความภูมิใจนะครับ แล้วก็อาจจะส่งต่อเรื่องราวแบบ นี้ให้กับผู้คนได้อีกเยอะ”

เพราะ “เกษตรอินทรีย์” ตามความหมายของตัวมันเองแล้วก็คือ “การเกษตรที่เป็นธรรมชาติ” เราจะทำมันได้คือการเชื่อและปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับกับมนุษย์ทุกคนที่มีเส้นทางธรรมชาติของตัวเอง ถ้าเราลองปล่อยตัวเราให้มีความรู้สึกแบบนั้นบ้าง เชื่อในสมดุลของธรรมชาติในตัวเอง เราจะมีความสุขอย่างสมดุลมากขึ้นอย่างแน่นอน