Neighbors and friends

WISHULADA

“เมื่อความขัดแย้งของงานศิลปะกับตัวตน 

กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินคนหนึ่งเลือกชุบชีวิต “เศษขยะ” ให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง

และ “WISHULADA” คือศิลปินคนนี้ที่เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก

เราเดินทางมายังสถานที่แห่งหนึ่งในย่านบางใหญ่ 

เพื่อไปพบกับ “คุณเอ๋ – วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์” ศิลปินเจ้าของผลงานในนาม “WISHULADA” 

ที่พาเรามานั่งในโกดังเก็บของเก่า สถานที่ที่เธอใช้ศึกษาเรื่องวัสดุและสร้างงานศิลปะ 

คุณเอ๋พาเรามานั่งที่ใต้ต้นไม้ บริเวณที่มีโต๊ะ และเก้าอี้อยู่ประมาณ 4 ตัว คุณเอ๋เชื้อเชิญเรานั่งพร้อมบอกว่า 

เก้าที่เรานั่งจริงๆแล้วก็คือ “ขยะ” ที่มันเก่าซึ่งคนทิ้งไปแล้ว 

แต่คุณเอ๋มองว่ามันยังใช้งานได้อยู่ จึงนำมันกลับมาให้ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง 

.. และนี่คือความประทับใจแรกที่เรามีต่อเธอ

คุณเอ๋ คือผู้หญิงสดใสน่ารัก 

แต่มีความคอนทราสต์หรือความขัดแย้งในตัวเองให้เราแปลกใจอยู่ตลอดช่วงเวลาที่คุยกัน 

ใครจะไปรู้ว่าผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้ จะคือคนเดียวกับคนที่ไปเก็บขยะตามที่ต่างๆ 

เพื่อนำมันมาแปลงร่างให้กลายเป็นมอนสเตอร์ตัวใหญ่ ที่เราเองก็ให้คำจำกัดความงานของเธอไม่ได้เช่นกัน

 

“เอ๋เริ่มจากความรู้สึกว่า ที่บ้านมีขยะเต็มไปหมด เพราะคุณพ่อคุณแม่เวลาไปร้านสะดวกซื้อ 

ชอบเก็บหลอดพลาสติก ถุงหรือแก้วพลาสติกมาหลายๆใบ 

เพราะอยากเผื่อไว้ใช้ แต่สุดท้ายมันไม่ได้ใช้ มันก็กลายเป็นขยะ 

เราแค่อยากเอามาทำอะไรบางอย่างที่สร้างสรรค์ เราเลยลองเริ่มต้นทำงานศิลปะจากขยะตั้งแต่ตอนนั้น”

 

แต่นั้นคือความคิดในช่วงเด็ก ที่เธอมองแค่ว่าขยะก็น่าจะมีประโยชน์และประกอบกับเธอชอบศิลปะอยู่แล้ว 

จึงเอามันมาประดิดประดอยเป็นของต่างๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เธอซึมซับการแปลงร่างขยะให้นำกลับมาใช้ใหม่ 

จนกระทั่งเธอได้เข้าเรียนต่อในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

และได้เริ่มทำผลงาน “ธีสิส” เธอจึงได้รู้ว่า ความหมายของขยะคืออะไร และความเป็นศิลปินที่แท้จริง คืออะไร

“ผลงานของเอ๋ตอนทำธีสิส คือ เราทำสัตว์ประหลาด หรือ มอนสเตอร์ 

เป็นสัตว์ประหลาดที่เกิดจากความผิดเพี้ยนจากปัญหาสิ่งแวดล้อม 

กว่าจะมาเป็นตัวนี้มันยากมาก เพราะเราเริ่มลงรายละเอียดกับวัสดุต่างๆว่ามันเอามาทำอะไรได้ 

และเริ่มรู้ว่าวัสดุแต่อย่างก็ที่มาที่ไปหรือวิธีใช้ที่ต่างกัน”

 

จากงานธีสิสในวันนั้น เราได้เห็นความเป็นตัวตนของเธอภายในงานชัดมากขึ้น 

เธอเป็นผู้หญิงตัวเล็กนิดเดียว ที่เอาขยะชิ้นเล็กๆ มาสร้างเป็นสิ่งของชิ้นใหญ่ตลอดเวลา 

งานของเธอมีทั้งแชนเดอเลียร์ขนาดใหญ่ที่ได้รับการจัดแสดงในไอคอนสยาม 

งานโชว์จากขยะที่ช่างชุ่ย รวมถึงแบ็คดรอปที่เธอได้สร้างสรรค์จากขยะในโครงการของบริษัทชั้นนำในประเทศไทย 

ซึ่งทั้งหมด ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า “ทุกอย่างที่เราคิดว่ามันใช้ไม่ได้จริงๆมันมีคุณค่ามากกว่านั้น”

คุณเอ๋บอกเราว่า งานของเธอมีอยู่ 2 ลักษณะ 

คืองานโชว์วัสดุ ว่าวัสดุแต่ละประเภทสามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง 

ตัวอย่างเช่น เศษผ้าที่คนมักจะคิดว่าทำจากธรรมชาติไม่อันตราย 

ดังนั้นน่าจะสามารถนำไปฝังกลบได้ 

แต่เธอบอกว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของผ้าก็คือ “สี” ที่ใช้ย้อมผ้า 

เพราะสีเหล่านั้นคือสารเคมี พอฝังกลบไป 

สีก็จะกระจายไปทั่วดินทำให้ดินเสื่อมโทรม 

เพราะฉะนั้นเธอจึงเอาเศษผ้าเหล่านั้นมาเย็บต่อกันให้กลายเป็นกระเป๋าผ้าชิ้นใหม่ให้ยังใช้งานได้อยู่ 

อย่างน้อยๆก็ต่อชีวิตมันออกไปก่อนจะทิ้ง

หรือแม้แต่ขยะที่คนไม่ค่อยนึกถึงนั่นคือ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” 

ไม่ว่าจะเป็นถ่านไฟฉาย แผงวงจร หรือหลอดไฟ 

ขยะเหล่านี้อันตรายและวิธีการกำจัดก็ต้องเฉพาะทาง 

แต่เป็นขยะที่มีมากในโลก ดังนั้นเธอจึงคิดนำขยะเหล่านี้มาดัดแปลง 

ถึงแม้ใช้งานไม่ได้ แต่เอาไว้ตั้งโชว์ยืดอายุก่อนทิ้งมันไปอีกสักหน่อย โลกเราก็อาจจะดีขึ้น

ในขณะที่งานประเภทที่ 2 ของเธอ ก็คืองานที่ต้องการสร้างความสะเทือนใจ 

ความตระหนัก หรือฉุกคิดให้กับคนทั่วไปว่า 

ขยะที่คุณกำลังจะทิ้ง คุณเลือกได้ว่าจะให้มันกลายเป็นขยะ 

หรืออยากให้มันเป็นสิ่งของที่ใช้งานได้ต่อไป และเมื่อถ้าคุณเลือกให้มันเป็นขยะ 

มันจะส่งผลอะไรต่อโลกเราบ้าง ถ้ามันมีมากมายเสียเหลือเกิน

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมคุณเอ๋จึงบอกเราว่า 

งานของเธอจุดเด่นคือ “ความคอนทราสต์” หรือ ก็คือ “ความขัดแย้ง”

“WISHULADA” คือแบรนด์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

เพราะเธอสร้างสรรค์ความสวยงามจากความไร้ค่าของวัสดุที่มนุษย์ไม่ให้ความสำคัญ 

เธอสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับชิ้นงานทั้งๆที่เธอตัวเล็กนิดเดียว 

เธอสร้างคำจำกัดความของคำว่าศิลปินโดยที่เธอต้องขัดกับภาพจำของครอบครัวว่าศิลปินไม่สามารถอยู่รอดได้ 

แต่เธอทำได้ เพราะศิลปินสำหรับเธอคืออาชีพ และท้ายที่สุดผู้ที่ช่วยให้งานของ “WISHULADA” เกิดขึ้นได้ 

ก็คือคุณพ่อและคุณแม่ ผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนเธอในตอนแรก 

แต่แสงไฟที่เกิดขึ้นในงานทั้งหมดนั้น 

คุณพ่อผู้จบด้านวิศวกรรมมาเป็นผู้ช่วยต่อและให้คำแนะนำ 

รวมถึงวัสดุบางอย่างก็เป็นคุณแม่เป็นผู้หาหรือเก็บไว้ให้เธอ

และที่สำคัญเธอสร้างความขัดแย้งต่อสังคมที่มองว่า “ขยะก็คือขยะ” 

ไม่มีคุณค่า อย่างมากก็แค่ชั่งกิโลขาย ให้รู้สึกว่า 

คุณค่าของขยะไม่ได้อยู่ที่ขยะเหล่านั้นเคยเป็นของที่มีราคาแพงมากแค่ไหน 

แต่จุดประสงค์ของการนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อไม่ให้โลกแย่ไปกว่านี้ต่างหากแพงกว่าราคาใดที่มี

และวันนี้คุณเอ๋ได้ทำให้เราต้องกลับมามองขวดน้ำพลาสติกที่อยู่ในมือเราตอนนี้ 

แล้วตั้งคำถามกับตัวเราเองว่า

 “เราจะทิ้งมันลงถังขยะเพียงแค่ใช้ครั้งเดียวแล้วหมดประโยชน์ 

หรือเลือกที่จะนำมันมาทำอะไรสักอย่างให้มีประโยชน์ที่สุดก่อนที่จะทิ้งมันไป 

ยื้อเวลาให้โลกอีกสักนิด ก่อนที่เวลานั้นจะไม่เหลืออีกเลย”